บทความ ข่าว

Please or Register to create posts and topics.

"สะสม" อะไรดี เพื่อทำ "รายได้" ในอนาคต โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ช่วงที่ล็อกดาวน์ตอนโควิด-19 ระบาดตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้รับข้อความจากเพื่อนๆ มีหลายคนประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้ต้องนำสิ่งสะสมหรือของรักมาขายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไปพลางๆจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาพปกติ เลยถือโอกาสชี้ทางอ้อมๆ เผื่อจะนำไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเผื่อทำเป็นงานหลักในอนาคตก็ได้ครับ

อันที่จริง ตลาดซื้อขายออนไลน์เกี่ยวกับเพลงอย่างไม่เป็นทางการมีมานานแล้วครับ ก่อนจะมีเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ แต่มาเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อคนฟังเพลงเอาในช่วงที่เฟซบุ๊กถือกำเนิดขึ้น ชุมชนขยายตัว คนซื้อคนขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ตรงตามหลักอุปสงค์อุปทาน ชุมชนนี้จึงขยายตัวตลอดเวลา จากซื้อขาย ก็เพิ่มแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาอีก ดังจะเห็นหลายกลุ่มในเฟซบุ๊กตั้งชื่อด้วย "ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน" เป็นคีย์เวิร์ด ปัจจุบัน มีเฟซบุ๊กเกี่ยวกับซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนเทป ซีดี แผ่นเสียง ดีวีดี นิตยสารดนตรี ไปจนถึงของที่ระลึกเกี่ยวกับดนตรีเต็มไปหมด ผมก็เป็นสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้หลายสิบกลุ่ม ได้ซื้อขาย และศึกษากลยุทธ์ต่างๆของคนขายแต่ละคน และที่สำคัญที่สุด ศึกษาความเคลื่อนไหวว่าตลาดต้องการอะไรบ้าง การตั้งราคาอาศัยจากมูลฐานอะไร

3 ไอเท็มชี้อนาคต

มาถึงกลางปี2020 นี้ หลายอย่างเริ่มส่อเค้ารางแล้วว่ามันมีส่วนกำหนดความเป็นไปในตลาดคนฟังเพลงได้ค่อนข้างแน่นอนและยืนยาว สำหรับคนที่ฟังเพลง สะสมไอเท็ม และชอบเล่นแร่แปรธาตุไม่ควรมองข้าม 3 ไอเท็มที่จะกล่าวในย่อหน้าต่อไปนะครับ

  1. ซีดี

ยังคงครองตำแหน่งแชมป์อย่างเหนียวแน่น ด้วยความสะดวกในการจัดเก็บ หาซื้อง่าย ขายคล่อง ราคาไม่ผันผวนมากจนเกินคาด ซีดียังเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ เป็นไอเท็มที่คุณซื้อมาฟังแล้ว ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ก็ขายออกได้ไม่ยาก และไม่ขาดทุนมากนัก ยิ่งคนที่ฟังเพลงฉาบฉวย ให้ความสำคัญกับสตรีมมิงเป็นหลัก ยิ่งมีโอกาสปล่อยซีดีในสะสมไว้ง่ายมาก เรียกว่ารอช้อนซีดีราคาถูก สภาพสะสมจากคนขายกลุ่มนี้ได้เลย

จะเห็นว่าเฟซขายซีดีหลายกลุ่มค่อนข้างคึกคัก มีคนขายมากหน้าหลายตาที่ส่วนใหญ่เครดิตดีและรับผิดชอบจนมีลูกค้าประจำกลุ่มใหญ่ติดตาม ขณะเดียวกัน คนซื้อก็มีหน้าใหม่หมุนเวียนไปช็อปกันตลอดเวลา หลายกลุ่มจึงมีสมาชิกจำนวนหลักหมื่นคนขึ้นไป คนซื้อและคนขายมีตัวยืนหลักที่คุ้นเคยกันดี กรณีฉ้อโกงหรือทำผิดกฎของกลุ่มแทบไม่ปรากฏให้เห็น

อีกกลุ่มนอกเหนือจากซื้อขายก็คือ กลุ่มประมูล ซึ่งคนซื้อ คนขายเป็นนักสะสมเป็นหลัก เพราะคนขายทราบว่าสินค้าของตนเองมีคุณค่ากับนักสะสม จะตั้งราคาขายเลยอาจพลาดได้ (หลายคนมีประสบการณ์ตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด เพราะมือใหม่หรือไม่สืบราคาตลาดก่อน ทำให้คนซื้อได้ของดีราคาถูกไปก็มาก) การประมูลจึงเป็นทางออกที่ดี แต่คนขายต้องทำใจไว้ก่อนว่า บางแผ่นอาจปิดในราคาที่ไม่สูงเท่าที่คาดฝัน แต่บางแผ่นก็ได้ราคาสูงเกินคาด กลุ่มประมูลจึงค่อนข้างซีเรียสแทบทุกอย่าง ทั้งสภาพแผ่น ไปจนถึงสภาพปกหรือแม้แต่สติกเกอร์แปะหน้ากล่อง จึงไม่แปลกที่เราอาจจะได้เห็นซีดีประมูลที่จบในราคาเกือบพันบาทหลายแผ่น เพราะบ้านเรายังมีนักสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นของศิลปินดัง ศิลปินที่คนฟังตามหาอยู่ ยิ่งราคาสูงจนน่าตกใจ

ข้อดีของซีดี

  • เก็บรักษาง่าย ใช้พื้นที่เก็บไม่มาก
  • ราคาเฉลี่ยไม่แพง หาซื้อง่าย ขายออกง่าย
  • ไรต์ลงแผ่นหรือลงคอมพิวเตอร์ได้ โดยคุณภาพเสียงใกล้เคียงต้นฉบับ

ข้อเสียของซีดี

  • ก๊อปปีง่าย ทำให้แผ่นปลอมแพร่หลาย ราคาถูกมาก อายุสั้น
  • แผ่นหมุนเวียนในตลาดมาก ทำให้บางแผ่นมีเกลื่อนจนแทบไม่มีราคา
  • แผ่นสะสมและ Box Set ค่อนข้างหายากและราคาสูง

  1. แผ่นเสียง

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แผ่นเสียงในบ้านเราเพิ่งเป็นกระแสความนิยม (หรือตามแฟชั่น) ในช่วงสิบกว่าปีมานี้เอง หลังจากที่ซีดีครองตลาดช่วงต้นยุค90s ราวพ.ศ. 2534-2540 อันเป็นช่วงที่เทปเริ่มผลิตน้อยลง คนเล่นแผ่นเสียงแทบจะเลิกเล่น เหตุนี้ ปรากฏการณ์เปิดท้ายรถขายของจึงกลายเป็นกระแสในช่วงนั้น นักฟังเพลงและเล่นแผ่นเสียงหลายคนคิดว่าชีวิตนี้ซีดีคือสิ่งเดียวที่พึ่งได้ยังขนเอาแผ่นเสียงที่ตนเองสะสมมาวางขายท้ายรถกันนับไม่ถ้วน ขายถูกตั้งแต่แผ่นละ 20-100 บาท คนที่ผ่านช่วงนั้นมาคงทราบดีว่า แผ่นเสียงสภาพดีๆของศิลปินดังๆในอดีตมักได้จากเปิดท้ายในราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่อ

มายุคนี้ ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนแล้ว แค่ท่องเฟซบุ๊กไปตามกลุ่มขายแผ่นเสียงต่างๆก็ได้ไอเท็มที่ต้องการแล้ว มีทั้งมือสองสภาพพอใช้ไปจนถึงสภาพสะสม ตลอดจนแผ่นใหม่ที่เมืองนอกเพิ่งออก และแผ่นเพื่อนักสะสมโดยเฉพาะ แต่ก่อนช็อปควรเช็กราคาให้ถี่ถ้วนครับ บางแผ่นบางอัลบัมราคาก็แตกต่างกันมาก เดี๋ยวคนขายส่วนใหญ่สั่งแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นเข้ามาขายมากขึ้น เพราะมีนายหน้าและพ่อค้ารับจ้างสั่ง ราคาไม่แพงมาก แต่มักจะซื้อเหมาลังมา ซึ่งนั่นเท่ากับว่าพวกเขาช่วยคนญี่ปุ่นเอาขยะเข้ามาบ้านเรา แผ่นจากญี่ปุ่นที่ขายดีและนักสะสมต้องการราคาไม่ใช่ถูกๆ แต่นั่นก็เป็นราคาที่นักสะสมบ้านเราไม่เกี่ยงเหมือนกัน ปัญหาอีกอย่างก็คือ คนขายส่วนหนึ่งยังให้เกรดแผ่นเสียงไม่ตรงกับสภาพที่แท้จริง ทำให้เราได้แผ่นในสภาพที่แย่กว่าที่คิดหลายครั้ง สภาพตอนนี้คนขายแต่ละคนที่ยังใหม่ต่อวงการก็ต่างคนต่างขาย ยังไม่มีมาตรฐานในการเกรดแผ่น ที่พึ่งพาได้จึงเป็นนักขายอาชีพที่มีเครดิตมานานแล้วนั่นเอง Advertisement

ข้อดีของแผ่นเสียง

  • เสียหายยาก (แต่ต้องเก็บรักษาให้ดี) อายุยืนกว่าคนเล่นเสียอีก
  • คุณภาพเสียงแบบอนาล็อกดีเยี่ยม สุ้มเสียงเป็นธรรมชาติ
  • อาร์ตเวิร์กใหญ่ มีรายละเอียดครบครัน (อาทิ เนื้อเพลง ภาพประกอบ แต่บางชุดก็ไม่มีให้แต่แรก) สวยงาม น่าเก็บ
  • ถ่ายลงเทปได้ นักสะสมส่วนใหญ่ในยุค70s-80s นิยมอัดลงเทป แล้วเปิดเทปฟัง ส่วนแผ่นเสียงเก็บเข้าตู้
  • ราคาไม่สูงมาก เพราะในยุคที่แผ่นเสียงครองตลาด ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก และยังนำงานเก่ามาผลิตซ้ำได้อีก

ข้อเสียของแผ่นเสียง

  • ใช้พื้นที่เก็บมาก มีปัญหากับความชื้น ความร้อน ปลวก ต้องเก็บรักษาในตู้หรือลังที่มีขนาดพอดี มีอุณหภูมิคงที่
  • ร่องเสียงเสียหายง่าย (หากเก็บรักษาดี ก็ไม่มีปัญหา) เมื่อเสียหายแล้ว ไม่คืนสภาพ ถือเป็นแผ่นเสียไปเลย
  • หน้าปกและซองในผลิตจากกระดาษ อุณหภูมิไม่คงที่ ความชื้น น้ำและแดดมีผลอย่างมาก ทำให้เสียจาง และเสียหายได้
  • ราคาไม่คงที่ ส่วนใหญ่แผ่นยิ่งเก่าราคายิ่งสูง โดยเฉพาะกับศิลปินที่มีคนสะสม ทำให้ไม่มีราคามาตรฐานที่แน่นอน มักขึ้นอยู่กับความพอใจและความต้องการของตลาด

  1. เทปคาสเสตต์

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ตลาดคนเล่นเทปค่อนข้างพุ่งแรงและเป็นกระแสมาก โดยเฉพาะแนวเฉพาะทางอย่างอินดี้ฯ และเมทัล ไม่ว่าจะเป็นสากลหรือไทย บางครั้งก็แพงโดยตัวมันเอง บางครั้งก็ถูกปั่นราคาจนแพงเกินจริง กระนั้น ก็ยังมีคนต้องการกันอยู่เนืองๆ ทำให้ตลาดเทปไม่เคยเหงา นักสะสมรุ่นหลังที่มีกำลังซื้อก็เป็นอีกตัวแปรที่ช่วยอุ้มชูตลาดเทปนี้ด้วย

เทปก็เช่นเดียวกับแผ่นเสียง ถ้าแพงก็แพงหูฉี่ ถ้าถูกก็เหมือนให้ฟรี แต่ปัจจุบัน เทปมักจะราคาถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเทปจากยุคที่มันถูกผลิตเลย ไม่ได้ถูกผลิตใหม่ในยุคนี้เหมือนแผ่นเสียงหรือซีดี ดังนั้น นักสะสมจึงเห็นว่าคุณค่าของเทปอยู่ที่มันเป็น original ยิ่งสติกเกอร์ราคายังติดอยู่ ของแถมยังอยู่กับตลับ ยังมีคุณค่าเพิ่มขึ้นอีก และนักสะสมก็ไม่ยอมพลาด เทปที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดทุกวันนี้ แม้มีจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกซื้อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ร่อยหรอลงแบบที่เราไม่ทันสังเกต ยิ่งไม่มีการผลิตเพิ่มหรือนำมาผลิตซ้ำแบบรีอิชชู (re-issue) ก็ยิ่งทำให้จำนวนเทปลดลงเรื่อยๆ ส่วนราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นไปแบบขั้นบันได

บางทีในอนาคตเทปเก่าที่ผลิตในอดีตอาจจะเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆที่นักสะสมให้ความสนใจ ส่วนเทปที่ผลิตใหม่ของศิลปินใหม่ในปัจจุบันและอนาคตอาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยราคาที่สูงเกินเหตุ และรูปแบบที่มันพัฒนาขึ้นจนดูแตกต่างจากเทปยุคเก่า ทีนี้ก็ขึ้นกับรสนิยมและกำลังทรัพย์ละครับ

ข้อดีของเทป

  • ราคาถูก หาง่าย คาดเดาสภาพจากรูปภาพ
  • เทปผียี่ห้อดังกับเทปลิขสิทธิ์คุณภาพเสียงแทบไม่ต่างกัน
  • เก็บรักษาง่าย ไม่กินที่
  • มีหลายไทป์ ทั้งธรรมดา โครเมียม และเมทัล ซึ่งให้คุณภาพเสียงตามเกรด โดยที่ราคาแตกต่างกันค่อนข้างมาก อีกทั้งมีความยาวของเวลาแตกต่างกัน มีตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 120 นาทีให้เลือกใช้

ข้อเสียของเทป

  • ระบุคุณภาพเสียงไม่ได้จนกว่าจะได้ฟัง การซื้อขายส่วนใหญ่จึงถือว่าวัดดวงเอา อายุใช้งานสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับการรักษา
  • มีปัญหากับความชื้น ความร้อน และเครื่องใช้ที่มีกระแสแม่เหล็ก ตลอดจนเครื่องเล่นที่ล้อยางส่งเทปฝืด อันเป็นต้นเหตุให้เครื่องเล่นกินเทป
  • ชิ้นส่วนบางอย่างหาอะไหล่ยาก เมื่อเสียหาย อาจต้องดึงชิ้นส่วนจากตลับอื่นมาใช้ทดแทน
  • มีโอกาสถูกอัดทับโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยครั้ง เว้นแต่หักพลาสติกในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มุมตลับซ้ายขวาทิ้งเสียก่อน ส่วนเทปลิขสิทธิ์หมดปัญหา ส่วนใหญ่โรงงานผลิตมาแบบที่ไม่แผ่นพลาสติกที่ว่านั่น
  • ไม่สามารถนำมาผลิตได้อีก เพราะไม่มีระบบจัดเก็บมาสเตอร์ไว้ นอกเสียจากตัวศิลปินเจ้าของผลงานยังเก็บมาสเตอร์ไว้

ที่กล่าวมาทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่คำแนะนำที่ใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นส่วนประกอบ เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเลือกสะสมอะไรจากสามอย่างนี้ หรือสะสมทั้งหมด คุณต้องคำนึงถึงความชอบส่วนตัว และมองอนาคตว่าวันใดคุณเบื่อสะสม หรืออาจเอาของสะสมมาสร้างรายได้ คุณจะจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด หรือพูดง่ายๆ อะไรจากสามอย่างนี้จะทำรายได้ให้คุณได้มากที่สุด ควรตระหนักว่าเราไม่ใช่พ่อค้า ไม่ใช่นักขายอาชีพ แต่การเรียนรู้และศึกษาจากเฟซบุ๊กต่างๆ ก็ช่วยได้และมีประโยชน์อย่างแน่นอน ยังไงก็มีความสุขและสนุกกับการฟังเพลงนะครับ

ที่มา Sanook.com

แอดมินเว็บไทยแกรมโมโฟน Thaigramophone.com

Comments are closed.