ประวัติ The Atlantic Records
ผู้ร่วมก่อตั้ง Atlantic ขึ้นในปี 1947 ที่นคร New York คือ Ahmet Ertegun และ Herb Abramson และมีบริษัทในเครือคือ Atco และ Cotillion นอกนั้นยังมี Clarion ใช้เป็น label ของแผ่นเสียงราคาถูก แนวเพลงของค่ายนี้จะเป็น rhythm and blues, jazz, blues, country and western, rock and roll, gospel, และ comedy
Ahmet Ertegun เกิดเมื่อปี 1923 ที่ตุรกีและย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่ออายุได้ 11 ปี โดยตามมากับบิดาที่ถูกแต่งตั้งเป็นทูตประจำที่นี่ เขาหลงใหลในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะดนตรี และได้ร่วมกับพี่ชายสะสมแผ่นแจ๊สและบลูส์ในยุคปี ’78 กว่า 15,000 แผ่น
Ahmet เข้าเรียนวิชาปรัชญาที่ St. Johns College จนกระทั่งจบปริญญาโท และทำงานที่ Georgetown ใน Washington, DC. เมื่อบิดาเสียชีวิตในปี 1944 แม่ และ พี่สาวก็กลับไปตุรกี พี่ชายย้ายไปอยู่ California ส่วนตัวเขายังอยู่ที่ Washington ป้วนเปี้ยนอยู่แถวร้านขายแผ่นเสียง Waxie Maxie กระหายที่จะเรียนรู้ธุรกิจการทำแผ่นเสียงอยู่ตลอดเวลา
Herb Abramson เกิดในปี 1917 เข้าเรียน high school ที่ Brooklyn เป็นนักสะสมแผ่น jazz และ blues ตัวยงอีกผู้หนึ่ง เขามีโอกาสได้ทำงาน part time ผลิตแผ่นเสียงให้กับ National Records ในขณะที่กำลังศึกษาทันตแพทย์อยู่ในมหาวิทยาลัย New York University เนื่องจากเป็นคนที่มีพื้นฐานของดนตรี jazz เขาจึงเริ่มจาก มองหาและปั้นศิลปินประเภทนี้ขึ้นมา ซึ่งมี Joe Turner และ Pete Johnson
เขาติดต่อเซ็นสัญญารับ Billy Eckstine ให้เข้าอยู่ในสังกัดของ National label และ ได้สร้างเพลง 2 เพลงเป็นเพลงฮิต ชื่อ “Prisoner of Love” และ “Cottage for Sale” นอกจากนั้นยังได้ปั้นดาวตลกผิวสีชื่อ Dusty Fletcher จนมีเพลงที่ฮิตคือ “Open the Door Richard” หลังจากที่อยู่กับค่าย National ได้ 2 ปี ก็ย้ายไปอยู่กับ Jubilee Record label ในเดือน พฤษภาคม ปี1946 แต่อยู่ได้แค่ช่วงสั้น ๆ ก็มีปัญหากับหุ้นส่วนใหม่ของที่นี่ ในที่สุดจึงลาออกมาในปี 1947
ส่วน Ahmet Ertegun ตัดสินใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจผลิตแผ่นเสียง เขามองหาผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้มาร่วมงาน นึกถึง Herb Abramson จึงเดินทางไปพบที่ New York (Herb มีภรรยาแล้วชื่อ Miriam) ต่อมาในเดือนตุลาคมปี 1947 Ahmet และ Herb ได้ร่วมกันก่อตั้ง Atlantic Records ด้วยเงินทุนของทันตแพทย์ชาวเตอรกีชื่อ Dr. Vahdi Sabit โดยมี Herb Abramson เป็นประธานบริษัท ส่วน Ahmet Ertegun เป็นรองประธาน
ค่อนข้างโชคดีที่นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เจ้าของเงินทุนไม่เคยกดดันให้ผู้ก่อตั้งทั้งคู่ต้องรีบทำกำไรนำเงินมาคืนให้ (ซึ่งแตกต่างกับบริษัทอื่น) Herb และ Ahmet จึงมีความเป็นอิสระที่จะคัดสรรนักดนตรีและศิลปินที่ดีในอุดมคติได้ เขาไม่เคยเอารัดเอาเปรียบศิลปินเหมือนที่หลายค่ายอิสระทำกัน เขารับผิดชอบ ซื่อตรงและให้เกียรติศิลปิน ด้วยเหตุนี้นี่เองเป็นผลให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ศิลปินที่มีพรสวรรค์ต่างก็ตั้งใจที่อยากจะสร้างผลงานและมาอยู่สังกัดนี้นาน ๆ
ในระยะเริ่มแรก ศิลปินในสังกัดต่างมาจากที่ต่าง ๆกัน มีทั้ง Stan Kenton band members Art Pepper, Shelly Manne, และ Pete Rugolo, มือกีต้าร์ : Tiny Grimes นักร้อง เช่น the Delta Rhythm Boys, the Clovers, และ the Cardinals, Ruth Brown (นักร้อง rhythm & blues), Stick McGhee และ Joe Turner นักเปียโน Erroll Garner และ Mal Waldron ศิลปิน progressive jazz มี Howard McGhee, James Moody และ Dizzy Gillespie, นักร้องเพลงแจ๊ซ Jackie & Roy และ Sarah Vaughan, นักร้องเพลง blues ก็มี Leadbelly และ Sonny Terry, และยังมีกลุ่มนักร้องตามคาเฟ่ คือ Mabel Mercer, Sylvia Syms และ Bobby Short นอกจากจะมีศิลปินดีเป็นที่ประทับใจมาอยู่ในสังกัดด้วยแล้ว Atlantic ยังมีรายได้ส่วนใหญ่จากการออกจำหน่ายเพลง rhythm and blues ที่บันทึกจาก Joe Turner (เช่น “Chains of Love,” “Honey Hush,” “TV Mama”) และที่บันทึกจาก Ruth Brown (เช่น “So Long,” “Teardrops From My Eyes,” “I’ll Wait for You”)
Atlantic ยังเป็นค่ายแรกที่บันทึกเพลงของ Professor Longhair ตำนานนักเล่นเปียโนจาก New Orleans เพลง “Fess” เป็นหนึ่งในเพลงทั้งหลายที่อยู่ในชุดแรกที่ Atlantic ทำการบันทึก คือ ชุด “Mardi Gras in New Orleans” ได้กลายเป็นเพลงประจำของงาน Mardi Gras ไป
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธุ์ ปี 1949, Atlantic ออกเพลง “Drinkin’ Wine Spo- Dee-O-Dee” โดย Stick McGhee ผู้มีชื่อเสียงในแนวเพลง blues กลายเป็นเพลงฮิตสุด ๆ และติดตามมาด้วยเพลง “Anytime, Anyplace, Anywhere” ของ Laurie Tate and Joe Morris’ ขึ้นติดอันดับหนึ่ง ในเดือน ตุลาคม ปี 1950 ต่อมาในปี 1951 Ahmet แต่งเพลง “Don’t You Know I Love You” ให้กับ Clovers ซึ่งก็ฮิตติดอันดับหนึ่งเช่นกัน ส่วน Ruth Brown เป็นคนที่ 3 ที่ทำให้ติด #1 R&B ด้วยเพลง “5-10-15 Hours” ในปี 1952
Atlantic เป็นบริษัทต้น ๆที่ได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจแผ่นเสียง long play ชนิด 33 1/3 rpm ออกอัลบั้มแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1949 Ahmet รู้ดีว่ามีโอกาสน้อยนักที่อัลบั้ม rhythm and blues จะประสบความสำเร็จได้ ในขณะที่เพลงประเภทเดียวกันแผ่นเสียงระบบ 78 rpm ยังคงครองใจผู้ฟังอยู่ ฉะนั้นในการออกอัลบั้มเพื่อชิงตลาดครั้งแรกจึงเริ่มด้วยอัลบั้มเสียงอ่านบทกวีก่อน เริ่มจาก Walter Benton’s This Is My Beloved
ในปี1953 Herb Abramson ถูกเกณฑ์ไปประจำการเป็นทหาร จึงรับผู้มาช่วยงานคือ Jerry Wexler เป็นชาวนิวยอร์ค เขาหลงไหลดนตรีของพวกผิวดำ เข้ามาทำงานในตำแหน่ง producer และเป็นรองประธานบริษัทด้วย รับผิดชอบหน้าที่ผลิตผลงานเพลง rhythm and blues เพื่อออกจำหน่ายให้แก่ชาวผิวดำโดยเฉพาะ
ในปีเดียวกัน Ahmet Ertegun สนใจเสียงร้องของ Clyde McPhatter จึงดั้งด้นไปหาและเซ็นสัญญารับเข้าสังกัด
Ahmet ให้เขาหาคนมาฝึกซ้อมตั้งวงดนตรี และตั้งชื่อวงว่า the Drifters เปิดตัววางจำหน่ายเพลงชุดแรก “Money Honey” ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเดือนกุมภาพันธุ์ ปี 1953
ในเดือน พฤษภาคม ปี 1954 Atlantic ออกเพลง “Shake, Rattle and Roll” โดย Big Joe Turner เป็นเพลงสุดยอดฮิตในยุค Rock and Roll เลยทีเดียว
Ray Charles เข้ามาอยู่ในสังกัดของ Atlantic Records เมื่อปี1952 อัลบั้มแรกที่ออกคือ “Roll With My Baby” เป็นเพลงที่พอจะฮิตบ้าง โดยพื้นฐานแล้วสไตล์การร้องเดิมของ Ray Charles จะเหมือนกับ Charles Brown และ Nat King Cole ผสมกัน จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษจิกายน ปี 1954 Jerry Wexler ได้ไปฟังวงใหม่ที่ Ray Charles ฟอร์มขึ้นมา ทันทีที่ได้ฟังเขาก็ตัดสินใจนำพาวงใหม่นี้ไปบันทึกเพลง “I Got a Woman” ที่ the Georgia Tech radio station ทันที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสไตล์การขับร้องแบบเพลงสวดแนวใหม่เป็นครั้งแรก เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงที่ Ray Charles ติด smash hit เป็นครั้งแรกเช่นกัน
ในปี 1955 Atlantic ได้ Nesuhi Ertegun ผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องแจ๊ซ มาร่วมงาน รับผิดชอบการพัฒนาอัลบั้มแจ๊ซ เขาได้ทำอัลบั้มด้วยวัสดุที่มีคุณภาพสูงทั้งการบันทึกลงแผ่นไวนิลที่มีความหนาพิเศษและซองบรรจุระดับเกรดสูงทั้งสิ้น ค่ายอิสระอื่นต่างก็ไม่สามารถจะลงทุนสูงได้แบบนี้ จึงมาแข่งขันด้วยไม่ได้ นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ที่นำศิลปินแจ๊ซมาร่วมด้วยมากมาย รวมทั้ง Shorty Rogers, Jimmy Giuffre, Herbie Mann และ Les McCann
สองปีต่อมา Herb Abramson จบสิ้นประจำการในกองทัพ กลับมาทำงานที่บริษัท Atlantic พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมายโดยมี Jerry Wexler เข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งแทนเขา และสร้างความเจริญเติบโตให้กับบริษัท จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะให้เขาออกจากบริษัท Herb จึงตัดสินใจตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาใหม่บริหารเองชื่อว่า Atco (มาจาก ATlantic COmpany)
ในปี 1957 เมื่อเทคโนโลยีการบันทึกเสียงแบบ Stereo เกิดขึ้น Atlantic ก็เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทแรก ๆ ที่บันทึกออกแผ่นเสียงในระบบสเตอริโอ โดยบันทึกลง multitrack tapes พร้อม ๆกับบันทึกแบบ mono ลงแผ่นในเวลาเดียวกัน แผ่นในระบบสเตอริโอที่ฮิตในระยะแรกๆเช่นเพลง “Lover’s Question” โดย Clyde McPhatter เพลง “What Am I Living For” โดย Chuck Willis เพลง “I Cried a Tear” โดย LaVern Baker เพลง “Splish Splash” โดย Bobby Darin เพลง “Yakety Yak” โดย the Coasters เพลง “What’d I Say” โดย Ray Charles และยังมีอื่น ๆอีก แต่เพลงระบบสเตอริโอเหล่านี้ยังไม่มีการเปิดตัวออกจำหน่าย(จำหน่ายแต่ mono)
จนกระทั่งในปี 1968 ได้จำหน่ายอัลบั้มสเตอริโอแรกออกไป ชื่อ History of Rhythm and Blues, Volume 4 [Atlantic SD-8164] ผลปรากฎว่าประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ อัลบั้มสเตอริโอจึงได้ทะยอยออกจำหน่าย นับตั้งแต่บัดนั้น
Atco กำลังไปได้ดีด้วยศิลปินในสังกัดอย่าง the Coasters and Bobby Darin แต่ก็เกิดปัญหาระหว่างหุ้นส่วนใน Atlantic เมื่อ Ahmet Ertegun ขึ้นนั่งเป็นประธานบริษัทแทน Herb เกิดการแตกแยกระหว่าง Ahmet Ertegun และ Herb Abramson สุดท้ายตกลงกันโดย Atlantic จ่ายเงิน $300,000 ให้แก่ Herb ซึ่งเป็นหุ้นส่วนและผู้ลงทุนแรกเริ่ม ให้ลาออกไปในเดือน ธันวาคม ปี 1958
เหลือ Ahmet Ertegun, Jerry Wexler และ Nesuhi Ertegun ยังคงบริหารกิจการต่อไป
ในช่วงปลายปี 1950 Atlantic กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดวัยรุ่นของชนผิวขาวจากวง the Drifters, Clyde McPhatter, Joe Turner, LaVern Baker, Ruth Brown, Ray Charles, และ the Coasters
ในปี 1960 Wexler เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ของ Satellite บริษัทแผ่นเสียงเล็ก ๆที่เมือง Memphisของ Jim Stewart เป็นเงิน $5000 ได้แผ่นเสียงที่ผลิตเสร็จแล้ว เพลง “Cause I Love You” ซึ่งร้องโดย Carla Thomas มาจำหน่ายรวมทั้งเพลง “Gee Whiz” ในเวลาต่อมาได้ขึ้นชาร์ทติดอันดับ 5 ของ Billboard ไม่นานจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Satellite เป็น Stax ทำการปรับปรุงและเพิ่มอุปกรณ์ให้เป็นห้องอัดและผลิตแผ่นเสียงที่มีคุณภาพสูง ในเวลาต่อมาได้ผลิตผลงานของ Atlantic label
ในปี 1961 Atlantic ได้ Solomon Burke นักร้องประเภท country and western เข้ามาอยู่ในสังกัด และได้ผลิตเพลง “Just Out of Reach” เป็นเพลงฮิตมากในเดือนพฤษจิกายน ปีเดียวกัน หลังจากนั้นได้ผลิตเพลงติดตลาดทำยอดขายได้ดีทยอยออกมาเรื่อย ๆให้กับ Atlantic จนกระทั่งถึงปี 1968
ในปี 1964 Wexler ได้ Wilson Pickett มาอยู่ในสังกัด และได้ทำอัลบั้มแปลกใหม่ขึ้นมาโดยใช้ Stax studios เป็นห้องอัด ให้ Wilson Pickett ร่วมกับ Steve Cropper ซึ่งเป็นมือกีต้าร์และเป็นโปรดิวเซอร์ของ Stax แต่งเพลงสื่อถึงบรรยากาศของโรงแรมที่มีขวดเหล้า Jack Daniels whiskey ได้ผลงานออกมาคือเพลง “In the Midnight Hour” เป็นเพลงที่ฮิตมาก และ Wilson Pickett ยังคงทำงานสร้างผลงานระดับติดตลาดให้กับ Atlantic จนถึงปี 1972
นอกจากนั้น Wexler ยังได้ Aretha Franklin นักร้องสาวที่มีพรสวรรค์มาร่วมงานด้วย ในปี 1967 เพลงแรกที่ได้บันทึกคือ “I Never Loved a Man (The Way I Love You)” นั้น ติดตลาดทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ ติดตามมาด้วยเพลง “Respect”, “A Natural Woman”, “Chain of Fools” และอีกมากมายหลายเพลง ตามกันมาเป็นพรวนจนได้รับฉายาว่า “Queen of Soul”
ในขณะเดียวกัน Ahmet Ertegun ก็ผลักดันให้ Atlantic เข้าสู่วงการร๊อค โดยในปี 1965 เขาได้รับนักร้องที่เป็นสามีภรรยานิรนามคู่หนึ่งร้องคู่กันใช้ชื่อเดิมว่า Caesar and Cleo เขาเปลี่ยนนักร้องเสียใหม่ เป็น Sonny and Cher เพลงของนักร้องคู่นี้ ไต่ระดับขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแห่งปีด้วยเพลง “I Got You Babe” ติดตามมาด้วยเพลงดัง ๆอีกมากมาย
Ahmet ยังให้ความสำคัญต่อนักร้องอังกฤษ เขาจึงได้เซ็นสัญญากับศิลปินเหล่านี้ เช่น Cream, King Crimson, และ Bee Gees. ต่อมาก็รับวงดนตรีจากอักฤษ ชื่อ Led Zeppelin เข้ามาอยู่ในสังกัด ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูง และยังได้ทำสัญญาตกลงกับวงดนตรี Rolling Stones โดยยินยอมให้เพลงยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของ Rolling Stones ส่วน Atlantic เป็นผู้จัดจำหน่าย
ในปี 1966, Nesuhi และ Wexler ไป Long Island เพื่อชมการแสดงของวงดนตรี Young Rascals(ต่อมาเรียกว่า Rascals อย่างเดียว) เขาทั้งคู่ประทับใจมาก ถึงกับรีบเซ็นสัญญารับเข้ามาในสังกัดและได้ออกอัลบั้มเพลงที่กลายเป็นเพลงอัมตะ “Groovin”, และอีกหลายเพลง ในปีเดียวกันนี้ยังได้เซ็นสัญญากับ Buffalo Springfield ออกอัลบั้มหลายเพลงภายใต้ Atco lable พลงที่ฮิตมาก คือ “For What It’s Worth”
ในปี 1967 Atlantic ได้รับการทาบทามขอซื้อจาก Warner Seven Arts Corporation โดยเสนอให้หุ้นของ Warner มูลค่า $17,000,000 แก่ Ahmet, Jerry และ Nesuhi ขณะที่ยังคงให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสของ Atlantic โดยรับค่าจ้างเป็นเงินเดือนในอัตราที่สูงอีกด้วย ทั้ง 3 จึงตกลงขายให้ ฉะนั้น Atlantic/Atco Records รวมทั้ง Warner Brothers/Reprise Records จึงอยู่ภายใต้ปีกการบริหารของ Warner-Seven Arts Corporation ตั้งแต่บัดนั้น
ในปี 1969 Ahmet ได้เกลี้ยกล่อมให้ David Geffen นำวง Crosby, Stills and Nash มาสังกัด Atlantic และ David ก็ประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรก โดยใช้เลเบล Asylum Record Label ภายใต้ปีกของ Warner-Elektra-Atlantic (WEA) ในเวลาต่อมาเป็น Geffen Records
ภายใต้องค์กร Warner-Seven Arts, Atlantic และ Warner-Reprise ต่างก็บริหารจัดการแยกเป็นอิสระจากกัน จนกระทั่งถูกซื้อไปโดย Kinney Corporation ในปี 1969 อย่างไรก็ตาม Ahmet Ertegun ยังคงได้รับความไว้วางใจให้บริหารงานต่อไป และได้รับมอบหมายให้ร่วมกับประธานและผู้อำนวยการของ Warner Brothers Records ดูแลธุรกิจด้านต่างประเทศ เขาได้แนะนำให้ Kinney ซื้อกิจการ Elektra Record Company และแยกกันควบคุมดูแลการจำหน่ายตามย่านหลักกๆของสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ Kinney (ซึ่งต่อมากลายเป็น Warner Communications) ประสบความสำเร็จในธุรกิจแผ่นเสียงทั้ง ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็เนื่องมาจากช่วงเวลานั้น เกิดการแตกแยกของกลุ่มต่าง ๆในวงการอย่างแสนสาหัส (ตัวอย่างเช่น Gulf+Western กับ Stax และ Dot, Transamerica กับ Liberty และ United Artists) กอร์ปกับยังคงให้ความไว้วางใจต่อบุคคลที่ทรงคุณค่าอย่าง Ahmet Ertegun ใน Atlantic, Jac Holtzman ใน Elektra, และ Mo Ostin กับ Joe Smith ใน Warner Brothers ให้พวกเขายังคงดำเนินการบริหารตามความถนัดต่อไปนั่นเอง ส่วน Warner Communications เป็นเพียงผู้ลงทุนและจัดจำหน่าย
Atlantic ยังคงบริหารต่อมาถึงทุกวันนี้ภายใต้องค์กรของ Time-Warner เป็นหนึ่งในบริษัทแผ่นเสียงที่ยังคงอยู่รอดมาได้ และมียอดจำหน่ายสูงที่สุด มากกว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเคยเป็นผู้นำด้านการตลาดจำหน่ายแผ่นเสียงมาก่อนอย่าง Columbia (ครอบครองโดย Sony) และ RCA (ครอบครองโดย BMG) Ahmet Ertegun ยังคงทำงานอยู่ที่เดิม แม้ว่าหน้าที่เขาจะลดน้อยลงไปหลังจากปี 1996 เมื่อเขากลายเป็นประธานร่วมของบริษัท ชีวประวัติของเขาเขียนขึ้นโดย Dorothy Wade และ Justine Picardie ในปี 1990 ชื่อ “Music Man: Ahmet Ertegun, Atlantic Records, and the Triumph of Rock ‘n’ Roll” ส่วน Jerry Wexler นั้น เกษียณและพักอยู่ใน Florida เขาได้ตีพิมพ์อัตชีวประวัติของตนเองในปี 1993 ชื่อ “Rhythm and the Blues”
การก้าวผงาดของ Atlantic Records อย่างอยู่ยั้งยืนยง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จนั้น เกิดมาจากผู้ทำงานด้วยอุดมการณ์ ตั้งใจจริง รสนิยมดี มีความรักและเข้าใจดนตรีอย่างลึกซึ้ง
- เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Atlantic Records จาก Wiki
- เว็บทางการ Atlantic Records
- สนใจหาแผ่นเสียงมือสอง Atlantic Records? ลองดูในบอร์ดซื้อขายแผ่นเสียงที่นี่
Atlantic Album Discography
อัลบัมแรกเป็นแผ่น 10” เริ่มจากหมายเลขแคตาล๊อค 110 ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “one 10 inch disc.”. และมีแผ่น12” ออกมาอีก 3 แผ่นต่อเนื่องกันมาในสปีด 78 rpm หมายเลขแคตาล๊อค 312-S. (312 มาจาก “three 12 inch discs” และ “S” มาจากสปีดที่ใช้เป็นมาตรฐานสมัยนั้นคือ 78 rpm. มีหมายเลขแผ่น 1201, 1202, และ 1203. เพียงไม่นานก็เปลี่ยนมาใช้แบบที่ 2 และ 3 ในเดือนพฤษภาคม ปี 1950 เป็น ALS-108 เป็นอัลบัมผลงานของ Joe Bushkin และ ALS-109 ผลงานของ Erroll Garner. แผ่น long play 12 นิ้วแผ่นแรกของ Atlantic (มกราคม 1951) คือ ALS-401 ซึ่งเป็นอัลบัมบันทึกเสียงในละครของ Shakespeare เรื่อง “Romeo and Juliet” กำกับโดย Eva LaGallienne และ Richard Waring.
สำหรับแผ่น 10” อัลบั้มแรกของ Atlantic คือ ALS-108, ลักษณะฉลากเป็นพื้นสีเทาตัวพิมพ์สีแดง มีชื่อ Atlantic สีขาวขอบแดง และคำว่า “FULL RANGE RECORDING” สีขาวอยู่ใต้ชื่อบริษัท มีข้อความโค้งด้านบนว่า “LONG PLAYING” และข้อความโค้งด้านล่างฉลากว่า “MICRO-GROOVE RECORD” เป็นสีขาว
ลักษณะ Label ที่ใช้ในแผ่น 10” (เกือบทั้งหมด) และแผ่น 12” บางแผ่นในช่วงแรกๆ ก่อนปี 1950 ของ Atlantic จะมีพื้นฉลากสีเหลือง พิมพ์ด้วยสีดำ มีชื่อ Atlantic พร้อมขีดเส้นใต้ อยู่ด้านบนฉลาก และมีลายเส้นวงกลมสีดำรอบฉลากเว้นเฉพาะตำแหน่งที่มีโลโกอยู่ ส่วนตำแหน่งด้านล่างฉลากมีคำว่า “LONG PLAYING” และ “UNBREAKABLE” โดยระหว่างกลางข้อความทั้งสอง มีรูปวงกลมเล็กๆภายในมีคำว่า 33 1/3 RPM. เลเบลนี้ใช้ในแผ่นเสียง 10” ทั้งหมดและแผ่น 12” อัลบัมแรกจนถึง LP-1211
Atlantic เป็นค่ายที่มีความคิดก้าวไกลพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆมาพัฒนาแผ่นเสียงของตนเอง อย่างเช่นมีแผ่นที่บันทึกพิเศษออกมาคือ album AL-1208 เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า Binaural sound. ใช้ microphones 2 ตัววางอยู่ห่างกันเท่ากับตำแหน่งหูของมนุษย์ ระบบนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะพัฒนาเป็น Stereo ถึง 5 ปี
เมื่อ Nesuhi เข้ามารับผิดชอบการผลิตเพลงประเภทแจ๊ซ เขายกเลิกแผ่น 10” ทั้งหมด และผลิตแผ่น 12” แทน ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นมาตรฐานในตลาดแผ่นเสียง เขาเริ่มเปลี่ยนมาใช้รหัสใหม่เริ่มจากแผ่นเลขที่ 1212 ของซีรี่ 1200 (ตั้งขึ้นใหม่) เป็นอัลบัมที่มีทั้ง Jazz และ R&B ติดราคาขาย $4.98 และในปี 1956 ก็มาใช้ซีรี่ 8000 ติดราคาขายที่ $3.98. บางอัลบัมของ rhythm and blues ในซี่รี่ 1200 กลับมาทำใหม่ (reissued) โดยใช้ซี่รี่ 8000 นี้ ส่วนในซีรี่ 1200ใช้สำอัลบัม แจ๊ซ อย่างเดียว
ในปี 1955, ซีรี่1200 เปลี่ยนเลเบลจากเดิมสีเหลืองไปเป็นสีดำแทน และตัวพิมพ์ สีเงิน โดยรูปกราฟฟิคไม่มีการเปลี่ยนแปลง เลเบลนี้เริ่มที่หมายเลข 1212 ถึง 1332, รวมถึงเลเบลพิเศษที่เป็น binaural issue หมายเลข 1208 ด้วย และในช่วงเวลานี้ยังมีออกเลเบลสำหรับใช้กับแผ่นที่เป็นสเตอริโอด้วย จะเปลี่ยนสีพื้นเป็นสีเขียวอ่อนแทนและมีคำว่า “STEREO” อยู่ในกรอบสีดำ วางอยู่ตำแหน่งเหนือโลโก Atlantic
ในเวลาถัดมาเป็นเลเบลของ Atlantic ที่ใช้กับแผ่นที่เป็นชนิดmono จะมีพื้นสีแดงครึ่งบนและสีชมพูอมม่วงอยู่ครึ่งล่างโดยมีแถบสีขาวคาดอยู่ตรงกลาง และมีคำว่า “ATLANTIC” สีดำพิมพ์อยู่ในตำแหน่งด้านซ้ายของแถบขาว ส่วนด้านขวาของแถบเดียวกันมีอักษรสีดำ “A” ตัวใหญ่ และรูปใบพัดสีขาว (เรียกเลเบลนี้ว่า white fan Atlantic label) ส่วนแผ่นในระบบสเตอริโอ ก็มีลักษณะฉลากเหมือนกันแต่สีพื้นเปลี่ยนไป โดยครึ่งบนเป็นสีเขียว ครึ่งล่างสีฟ้า และเพิ่มคำว่า “STEREO” สีขาวอยู่ส่วนบนของฉลาก ส่วนฉลากที่ใช้กับแผ่นโปรโมชั่น ก็ใช้พื้นสีขาวทั้งหมด และตัวพิมพ์สีดำ เลเบลนี้ใช้ในแผ่นตั้งแต่หมายเลข 1333 จนถึงประมาณเลขที่ 1378.
ในเวลาถัดมาอีก ก็เปลี่ยนเป็นเลเบลใหม่ซึ่งเหมือนกับของเดิมเกือบทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนรูปพัดลมสีขาวมาเป็นสีดำแทน และมีคำว่า Atlantic ขนาดเล็กพิมพ์ในแนวตั้งอยู่ระหว่างอักษร “A” และรูปใบพัด เรียก Label ใหม่นี้ว่า “black fan Atlantic label.” แผ่นโปรโมชั่น ก็มีลักษณะเดียวกันเพียงแต่สีพื้นเป็นสีขาวทั้งหมด เลเบลนี้ใช้กับในลำดับแผ่นที่ 1379 ถึงประมาณลำดับที่ 1463.
Atlantic ได้เปลี่ยน Label design ใหม่ตั้งแต่แผ่นหมายเลขที่ SD-1464 โดยให้อักษร A ใหญ่ และรูปใบพัดสีดำ รวมทั้งมีคำ Atlantic ขนาดเล็กอยู่ข้างใต้ ทั้งหมดอยู่รวมภายในกรอบสี่เหลี่ยมเป็นโลโก้ใหม่เรียกว่า “logo box” label. แผ่นระบบ Mono จะมีสีแดงครึ่งบนและชมพูอมม่วงครึ่งล่าง ส่วนแผ่น Stereo จะเป็นสีเขียวและฟ้าแทน ส่วนแผ่นpromotional issues จะเป็นสีขาว พิมพ์สีดำ เลเบลนี้ใช้ตั้งแต่แผ่นหมายเลข 1464 ถึง 1499.
รูปแบบเลเบลได้เปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งปลายปี 1973ตั้งแต่แผ่นหมายเลข SD-1500 เป็นต้นมา โดยรูปโลโก้เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเป็นกรอบสีแดงที่มีอักษร A และใบพัดสีดำ และคำว่า Atlantic สีดำอยู่กรอบล่างสีเหลือง โลโก้ใหม่นี้ย้ายไปอยู่ด้านบนของฉลาก พื้นฉลากมีสีเขียวครึ่งบนและสีแดง-ส้มครึ่งล่างโดยมีแถบขาวคาดกลาง ส่วนด้านล่างฉลากมีข้อความที่อยู่ 1841
จากปลายปี 1973 ถึงปี 1975 ก็ยังคงใช้แบบเลเบลเดิมนี้เพียงแต่เปลี่ยนที่อยู่ที่พิมพ์อยู่ด้านล่างฉลากเป็น 73 Rockefeller Plaza แทนเลขที่เดิม.
และหลังจากปี 1975 เป็นต้นมา ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม แต่จะมีโลโก้ Warner Brothers ขนาดเล็กแทรกอยู่ตำแหน่งด้านล่างฉลาก.
Atlantic ยังมีออก Label ของบรริษัทในเครื่อ อย่าง Atco label และ แผ่นเสียง label อีกมากมายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย เช่น Clarion label, Cotillion label, Alston label, Astro label, Big tree label, Brooklyn label, Capricon label, Emeral label, Vortex label เป็นต้น
บทความนี้ เขียนโดย ลุงพง จากเว็บไทยแกรมโมโฟน ท่านสามารถส่งต่อ แชร์ ได้ไม่หวงห้าม หากแต่ให้เครดิตว่ามาจาก ลุงพง หรือ เว็บไทยแกรโมโฟน จักเป็นพระคุณยิ่ง