บทความ ข่าว

Please or Register to create posts and topics.

รีวิว Thorens : TD 203

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่รับรู้ได้ถึงกระแสความนิยมของการเล่นแผ่นเสียง ซึ่งย้อนวนกลับมาใหม่เป็นรอบที่เท่าไรแล้วก็ไม่ทราบ การกลับมาครั้งนี้ในบางแง่มุมมันได้ถูกยกระดับให้กลายเป็น ‘เทรนด์’ ที่คนรุ่นใหม่หรือรุ่นกลางเก่ากลางใหม่หลายคนอยากลองสัมผัสสักครั้งในชีวิต

แต่เมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้ามาในโลกของแผ่นเสียงในปี 2015-2016 คุณคิดว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? เมื่อได้เห็นแผ่น LP เพลงตลาดอัลบั้มใหม่ ๆ ราคาเริ่มต้นที่เกือบ 2 พันบาท หรือแผ่นเก่าบางชุดที่ถูกกลไกปั่นราคาเพิ่มมูลค่าให้เลิศเลอจนเกินความเป็นจริง

นั่นคือมุมมองด้านซอฟต์แวร์ ทางด้านฮาร์ดแวร์หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงและอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกันนัก สมัยนี้บ่อยครั้งที่คุยกันด้วยสนนราคาหลักแสนหลักล้าน แถมยังไม่นับการออกแบบและการเซ็ตอัปที่แสนจะพิสดารพันลึกจนกลายเป็นกำแพงสูงที่ดูเหมือนจะปีนข้ามมาได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน

ขณะที่เครื่องราคาประหยัดที่พอมีอยู่บ้างก็ดูเหมือนจะก๋องแก๋งจนดูน่าสงสัยว่าจะพอให้อะไรดี ๆ จากแผ่นเสียงออกมาได้หรือไม่?

ผมจำได้ว่าเทิร์น Rega Planar 3 + หัวเข็ม Sumiko BluePoint + โฟโนปรีแอมป์ Audio Alchemy Vac-in-the-box เป็นซิสเตมแรกที่ทำให้ผมแฮปปี้กับเสียงของ LP ได้อย่างเกินคุ้ม สนนราคาของมันอยู่ที่ราว ๆ 3-4 หมื่นบาทไม่เกินนี้เท่านั้นเอง

โชคดีที่นอกจากยี่ห้อ Rega แล้วยังพอมีผู้ผลิตอื่นที่มองเห็นช่องโหว่ในกำแพงสูงเหล่านั้น เช่น เทิร์นเทเบิ้ลสัญชาติเยอรมันอย่างยี่ห้อ ธอเรนส์ ‘Thorens’ เป็นต้น

ล่าสุดพวกเขาเพิ่งเปิดตัว TD 203 เทิร์นเทเบิ้ลรุ่นใหม่ในตระกูล entry level ที่มาพร้อมกับองค์ประกอบและรายละเอียดทางเทคนิคที่ดูจะเกินหน้าเกินตาเครื่องระดับเริ่มต้น (entry level) ไปพอสมควร

Reference Entry Level
แม้ว่าจะเป็นเครื่องในระดับ entry level แต่ดูเหมือนทาง Thorens จะไม่ได้ตั้งใจทำให้ TD 203 เป็นเช่นนั้นมากนัก โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงในระดับเริ่มต้น เรามักจะจินตนาการไปถึงการเล่นแผ่นด้วยระบบอัตโนมัติ (ออโตเมติก) ที่เน้นความสะดวกมาก่อนคุณภาพเสียง

สภาพโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ดูอ่อนแอ บอบบาง จนเห็นได้ชัดถึงวิธีการลดต้นทุนโดยเฉพาะชิ้นส่วนโทนอาร์มซึ่งมักจะมีมูลค่าราว ๆ 50% ของราคาเครื่อง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่ปรากฏพบในเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Thorens รุ่นนี้ครับ!

โดยพื้นฐานทางเทคนิค TD 203 เป็นเทิร์นเทเบิ้ลระบบแมนน่วล 100% จะเล่นแผ่น วางหัวเข็มหรือยกหัวเข็ม เป็นระบบอัตโนมือเหมือนเครื่องเล่นแพง ๆ ทั้งหมดครับ แท่นเครื่องหลักเป็นระบบไม่ยืดหยุ่น (non-suspension) มีขารองเครื่อง 3 จุดทำจากวัสดุประเภทยางเนื้อแข็ง

ชิ้นส่วน plinth หรือแท่นเครื่องหลักผลิตจาก MDF ชิ้นเดียว ความหนาประมาณ 18 มิลลิเมตร ทำสีและเคลือบเงาแบบไฮกลอส ดีไซน์อาจจะดูไม่ได้แปลกตาอะไร (ยกเว้นคุณเลือกตัวที่ทำสีเจ็บ ๆ อย่างเช่นสีแดงในรีวิวนี้) แต่เนื้องานมีความประณีตสมกับมาจากแบรนด์เนมระดับโลกอย่างธอเรนส์

ชิ้นส่วนแพลตเตอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้วน้ำหนัก 0.8 กิโลกรัม ผลิตจากวัสดุประเภทโพลีเมอร์ที่มีการแดมปิ้งที่ดีนำมาหล่อขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียว คุณสมบัติในเนื้อวัสดุจึงมีความเท่าเทียมกันตลอดทั้งชิ้น

ระบบขับเคลื่อนเป็นระบบ belt-drive ขับเคลื่อนด้วยสายพานโดยใช้มอเตอร์ไฟกระแสตรงควบคุมความเร็วรอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์เซอร์โว ส่งกำลังผ่านสายพานแบบแบน (flat belt) ไปยังแพลตเตอร์ผ่านชุดแพลตเตอร์รอง (sub-platter) ที่ทำจากวัสดุเดียวกับแพลตเตอร์

และเพื่อลดการส่งผ่านความสั่นสะเทือนระหว่างมอเตอร์กับแท่นเครื่อง ชุดมอเตอร์จึงได้ถูกออกแบบให้ติดตั้งแบบแขวนลอยด้วยยางโอริงในบางจุดไม่ได้ยึดเข้าที่ตัวแท่นเครื่องโดยตรง

TD 203 เล่นแผ่นเสียงได้ทั้งสปีด 33-1/3 และ 45 rpm ปรับสปีดด้วยสวิตช์ไฟฟ้าและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ภาคจ่ายไฟเป็นปลั๊กอะแดปเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ตัวเล็ก ๆ แยกส่วนจากตัวเครื่อง

ปุ่มสวิตช์เปิด-ปิดเครื่องและปุ่มสวิตช์เลือกความเร็วรอบหมุน 33 1/3 หรือ 45 rpm

นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวถึงไปข้างต้น ยังมีส่วนที่ผมถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับ TD 203 ก็คือ โทนอาร์มแบบ Unipivot รุ่น TP 82 ของธอเรนส์เอง

ว่ากันว่านี่เป็นครั้งแรกสำหรับเทิร์นเทเบิ้ลระดับ entry level ของธอเรนส์ที่ให้โทนอาร์มแบบ Unipivot มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน จุดเด่นของโทนอาร์มประเภทนี้ก็คือนอกจากการกวาดไปในแนวนอนและแนวตั้งแล้วมันยังสามารถให้ตัวในลักษณะพลิกซ้าย/ขวาได้ด้วย

จากดีไซน์ที่มีจุดหมุนและระบบลูกปืนเพียงจุดเดียว จึงออกแบบให้มีแรงเสียดทานต่อการเคลื่อนตัวของโทนอาร์มในระดับต่ำได้ง่ายกว่า ข้อเสียเดียวที่ชัดเจนของมันเมื่อเทียบกับโทนอาร์มแบบ Pivot ธรรมดาก็คือมันเซ็ตอัปยากกว่า TP 82 มีระยะ Effective length อยู่ที่ 232.8 มิลลิเมตร (ประมาณ 9.1 นิ้ว) ระยะ Overhang อยู่ที่ 17.8 mm (variable) มุมออฟเซ็ต (Offset angle) อยู่ที่ 23.6 องศา (fixed) น้ำหนักส่วนเคลื่อนไหว (Effective mass) ประมาณ 11 กรัม

ชิ้นส่วนแขนอาร์ม (Tonearm Tube) ขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมม้วนกลม มีวงแหวนแดมปิ้งรัดอยู่ที่ตัวแขนอาร์มเหมือนในโทนอาร์มรุ่นใหญ่บางรุ่นของธอเรนส์

นอกจาก TP 82 แล้วทางธอเรนส์เขายังให้หัวเข็ม MM รุ่น TAS 257 (Made in Japan) ของธอเรนส์ติดตั้งมาด้วยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ TD 203 รวมถึงฝาครอบกันฝุ่น (ซึ่งกันได้แค่บางส่วน) ที่ดัดขึ้นรูปจากแผ่นอะคริลิกใสเวลาใช้งานครอบลงไปบนตัวเครื่องก็แลดูสวยงามดีครับ

แต่อย่าเพิ่งคาดหวังประสิทธิภาพในการกันฝุ่นของมันนะครับ เพราะมันไม่ได้ครอบตัวเครื่องเล่นทุกส่วนอย่างมิดชิด ที่จริงประโยชน์ของมันเท่าที่ผมเล็งเห็นก็คือการใช้ครอบเพื่อปกป้องชิ้นส่วนต่าง ๆ บริเวณโทนอาร์มและหัวเข็มมากกว่าครับ

Unpacking & Setup
ความง่ายในการติดตั้งใช้งานและการเซ็ตอัปคืออีกหนึ่งคุณสมบัติที่ทางธอเรนส์ตั้งใจทำให้ TD 203 เป็นเช่นนั้น ข้อมูลจากผู้ผลิตบอกว่ากับเทิร์นเทเบิ้ลระดับไฮไฟทั่วไปคุณอาจต้องใช้เวลาในการติดตั้งเรียบร้อยจนสามารถใช้งานได้ราว ๆ 30 นาทีหรือนานกว่านั้น แต่สำหรับ TD 203 มันใช้เวลาเพียงแค่ไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น

ในรีวิวนี้ผมอาจจะไม่ได้มานั่งตั้งใจจับเวลานะครับ แต่จากการที่ได้ลงมือแกะกล่องด้วยตัวเองก็พบว่ามันน่าจะเป็นไปได้ เพราะหลาย ๆ ชิ้นส่วนนั้นถูกประกอบมาเรียบร้อยแล้วจากโรงงานผู้ผลิตโดยเฉพาะส่วนที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันอย่างโทนอาร์มและหัวเข็ม

ในกล่องใส่ตัวเครื่องคุณจะได้พบกับชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดนั่นคือตัวแท่นเครื่อง TD 203 ที่ได้ติดตั้งมอเตอร์, แพลตเตอร์รอง, โทนอาร์มและหัวเข็มมาให้แล้ว ชิ้นส่วนที่เหลือก็มีสายพาน, แพลตเตอร์, ตุ้มถ่วงน้ำหนัก 2 ชุด, ตุ้มถ่วงขนาดเล็กพร้อมเส้นเอ็นสำหรับใช้ชดเชยแอนตี้สเกต, ฝาครอบอะคริลิก, ตัวแปลงสำหรับเล่นแผ่น 7 นิ้ว, ตัวชั่งแรงกดหัวเข็มอย่างง่าย, แผ่นโปรแทรคเตอร์สำหรับใช้ปรับตั้งหัวเข็ม และอะแดปเตอร์จ่ายไฟ

ด้วยความที่หลาย ๆ องค์ประกอบของตัวเครื่องถูกติดตั้งมาแล้ว งานส่วนที่เหลือของผมจึงมีเพียงแค่การ เอาสายพานคล้องไปที่แกนมอเตอร์และแพลตเตอร์รอง วางแพลตเตอร์ลงบนแพลตเตอร์รอง ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนักทั้งสองลูกตามคำแนะนำในคู่มือ

ลูกที่โตกว่าใส่เข้าไปก่อนแล้วค่อยใส่ลูกที่เล็กกว่า ทั้งสองลูกให้วางตำแหน่งใกล้กันแต่ไม่ติดกัน ปรับระยะของตุ้มถ่วงจนได้ tracking force ที่ปลายหัวเข็มตามที่ต้องการ ตามคู่มือแนะนำที่ 2.3 กรัม

สำหรับหัวเข็ม TAS 257 จากนั้นก็แขวนตุ้มถ่วงไซส์มินิสำหรับตั้งค่าแอนตี้สเก็ตตามคำแนะนำในคู่มือผนวกกับประสบการณ์การปรับตั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนครับ แต่มีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องใส่ใจก็คือ การปรับอะซิมุธหรือมุมเอียงด้านข้างของหัวเข็ม

โทนอาร์ม Unipivot รุ่น TP 82 ของ Thorens เอง

เนื่องจากโทนอาร์มแบบ Unipivot นั้นสามารถพลิกเอียงได้ด้วยในกรณีที่มันเกิดความไม่สมดุล ลองนึกถึงแก้วที่คว่ำครอบลงไปบนปลายแหลมของแท่งตะปูอะไรทำนองนั้นครับ คอซึ่งเป็นจุดหมุนของตัวโทนอาร์ม Unipivot ก็เช่นกัน

การปรับอะซิมุธของหัวเข็มสามารถกระทำได้ที่ตัวโทนอาร์มโดยตรงโดยการบิดตุ้มถ่วงน้ำหนักลูกเล็กที่บริเวณท้ายอาร์มเพียงเล็กน้อยแล้วดูว่าหัวเข็มที่วางบนแพลเตอร์หรือแผ่นเสียงตั้งฉากกับหัวเข็มหรือไม่

หากยังไม่ตั้งฉากก็ให้สังเกตว่าหัวเข็มเอียงไปทางใดและการบิดที่ตุ้มถ่วงน้ำหนักนั้นให้ผลลัพธ์ไปทางใด สุดท้ายแล้วจะต้องได้ในลักษณะที่หัวเข็มวางตั้งฉากกับแผ่นเสียงโดยตรง ไม่มีลักษณะเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

ฟังดูเหมือนจะยุ่งยากนะครับแต่ในการใช้งานจริงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย นอกจากการปรับตั้งในส่วนที่ว่ามาแล้ว TD 203 ยังถูกออกแบบให้ผู้ใช้สามารถปรับสปีดรอบหมุนแบบ fine tune ด้วยสกรูเล็ก ๆ 2 ตัว (แยกสปีด 33-1/3 และ 45 rpm) หรือปรับความตึงของสายพานได้ด้วยในกรณีที่มีความจำเป็น สำหรับการใช้งานเบื้องต้นทั้ง 2 ส่วนนี้ยังไม่จำเป็นต้องไปยุ่งอะไรครับ ใช้แบบเดิม ๆ จากโรงงานได้เลย

หัวเข็ม TAS 257 ในระหว่างการปรับตั้งอะซิมุธด้วยแผ่นโปรแทรคเตอร์ที่แถมมากับเครื่อง

เบื้องต้นถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนหัวเข็ม และใช้งานแบบเดิม ๆ ตามที่ผู้ผลิตเขาติดตั้งมาให้จากโรงงาน ผมว่าการใช้เวลาเซ็ตอัปเพียง 5 นาที ตามที่ผู้ผลิตอ้างไว้นั้นสามารถเป็นไปได้ครับ และด้วยความเรียบง่ายนี้เอง ในการรีวิวนี้ผมจึงเน้นซิสเตมที่มีความสะดวกเรียบง่ายเป็นหลัก

การลองใช้งานเบื้องต้นผมต่อมันเข้ากับ Phono Preamp/USB DAC แบบตั้งโต๊ะ ADL GT-40a และในซิสเตมหลักที่ใช้งานอยู่ในห้องฟังทดสอบของ GM2000 ผมต่อมันเข้ากับอินทิเกรตแอมป์ Arcam FMJ A39 ซึ่งมีอินพุตโฟโนสำหรับหัวเข็ม MM ที่เข้ากันได้ดี

Music For Pleasure
ขณะกำลังนั่งฟัง TD 203 ในห้องทดสอบของ GM2000 เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ไม่มีประสิทธิภาพตรงจุดใดต่ำกว่าที่ผมประเมิน การควบคุมรอบหมุนของมันทำได้นิ่งและแน่นอนแทบไม่ต่างจาก Well Tempered Simplex เทิร์นฯ ที่ราคาสูงกว่ามันเป็นเท่าตัว

การที่แพลตเตอร์ของมันไม่ต้องมี mat รองแผ่น ทำให้มันไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าสถิตย์เหมือน mat ที่ทำจากวัสดุบางชนิดเช่น สักหลาดหรือโฟม ขณะเดียวกันมันทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายโดยปราศจากปัญหากวนใจใด ๆ

สายสัญญาณจากโทนอาร์มที่ไม่สามารถถอดออกได้และดูเหมือนจะเป็นสายธรรมดาทั่วไปไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่มันก็ใช้งานได้ดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดหายของสัญญาณหรือเกิดเสียงรบกวนใด ๆ

สุ้มเสียงที่ได้ TD 203 ในสภาพเดิม ๆ จากโรงงานโดดเด่นมากเมื่อผมฟังเพลงแนวพ็อพ, พ็อพร็อคทั่วไปหรือแม้กระทั่งเพลงแจ๊ซสมัยใหม่ กับแผ่น Mellow Motif ชุด Sabuy Dee ผมได้ยินเสียงทุ้มที่มีลักษณะเป็นเนื้อเป็นหนัง มีน้ำหนักและหัวเสียงที่ชัดเจนเข้มข้น

ลักษณะเดียวกับที่เคยได้ยินจากเทิร์นฯ ที่มีน้ำหนักตัวสิบกว่ากิโลกรัมอย่าง Stanton ST150 ขณะที่ TD 203 ซึ่งน้ำหนักตัวไม่ถึง 4 กิโลกรัมก็ให้เนื้อหนังมังสาของเสียงทุ้มอย่างนั้นออกมาได้เช่นกัน

ที่น่าสนใจคือเสียงกลางและเสียงแหลมที่ได้จาก TD 203 นั้นยังให้ความพลิ้วหวานนุ่มนวลที่น่าฟังกว่า เนื่องจากคุณภาพของหัวเข็มที่ติดตัวมันมานั้นน่าจะมีคุณภาพเสียงเหนือกว่าหัวเข็มสำหรับงานดีเจของ ST150 พอสมควร ท่ามกลางแผ่น LP จำนวนมากมายที่ผมได้เปิดลองฟังกับ TD 203 อัลบั้มหนึ่งที่ผมฟังแล้วรู้สึกสะดุดหูเป็นพิเศษคือแผ่น Janis Ian : Breaking Silence [Analogue Productions, APP 207, HQ-Vinyl 180 gram]

นอกจากเสียงทุ้มที่เป็นเนื้อเป็นหนังแล้ว ผมคิดว่าอิมแพ็คและไดนามิกเสียงที่ผมกำลังได้ยินอยู่นี้มันเกินกว่าที่ผมจะกล้าคาดหวังจากหัวเข็ม MM ที่แถมมาตัวนี้มากครับ มันคมชัดและจะแจ้งมากโดยเฉพาะเสียงสแนร์และกีตาร์ในแทรคแรก ‘All Roads To The River’ ที่ตรึงผมอยู่กับเก้าอี้ตามด้วยอาการอ้าปากค้างเล็กน้อยอย่างลืมตัว “เฮ้ย นี่มันแค่หัวเข็มติดเครื่องมาหรือนี่”

จริง ๆ นะครับ จากประสบการณ์ของผมหัวเข็ม MM โดยเฉพาะที่ราคาย่อมเยาอย่างนี้มักจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย ในที่นี้มันก็มีข้อจำกัดนะครับไม่ใช่ว่าไม่มี TAS 257 ยังให้รายละเอียดย่านความถี่ต่ำออกมาได้ดีกว่าย่านเสียงกลางและแหลม สองอย่างหลังนี่มันสู้หัวเข็ม MC อย่าง Shelter 501 MkII ไม่ได้เลย

แต่ว่าที่ผมชื่นชมคือรายละเอียดส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นดนตรีมันยังคงอยู่ครบถ้วน การควบคุมจังหวะจะโคนที่ดีเยี่ยมของตัวเทิร์นฯ ประกอบกับความสามารถของโทนอาร์ม Unipivot ใน TD 203 น่าจะช่วยสนับสนุนให้หัวเข็มที่แถมมากับเครื่องตัวนี้สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่าน่าชื่นชมมากครับ นับว่าการตัดสินใจใส่โทนอาร์มคุณภาพดีมาในเทิร์นฯ ระดับ entry level เป็นอะไรที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

Cartridge Upgrade
จากประสบการณ์ผมเคยลองใช้หัวเข็มดี ๆ ที่ราคาเท่ากันหรือราคาสูงกว่าตัวเทิร์นฯ ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกันไปครับ บางครั้งรู้สึกว่าไม่คุ้มราคา ตัวเทิร์นฯ กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หัวเข็มไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของมันออกมา แต่ในบางครั้งพบว่ามันกลายเป็นอะไรที่ลงตัวสุด ๆ ครับ และจากการที่ได้ลองเล่น TD 203 ชุดมาตรฐานใช้อุปกรณ์ทุกอย่างที่มาจากโรงงานแล้วพบว่ามันให้ผลลัพธ์ออกมาดีมาก

การอัปเกรดแรกที่ผมนึกอยากลองก็คือ การเปลี่ยนหัวเข็มที่มีคุณภาพดีกว่าเข้าไปแทนหัวเข็มรุ่นมาตรฐานที่มาพร้อมกับเครื่อง ซึ่งในที่นี้ผมมีหัวเข็ม Soundsmith รุ่น Carmen (Made in the USA.) ซึ่งเป็นหัวเข็มชนิด Moving Iron บอดี้เป็นโลหะประกบกับไม้อีโบนีสามารถใช้กับภาคโฟโนปรีแอมป์สำหรับหัวเข็ม MM ได้โดยตรง

หัวเข็ม Soundsmith รุ่น ​Carmen ในระหว่างการปรับตั้งอะซิมุธด้วยแผ่นโปรแทรคเตอร์ที่แถมมากับเครื่อง

การเปลี่ยนหัวเข็มใหม่เข้าไปแทนผมจำเป็นต้องใช้โปรแทรคเตอร์ที่แถมมาช่วยในการปรับตั้งระยะ Over Hang ซึ่งสามารถทำได้โดยง่าย ๆ เพียงแค่คลายสกรูที่ด้านบนเฮดเชลออกแล้วเลื่อนตำแหน่งเอา

หัวเข็มรุ่น Carmen มีระยะยื่นของเข็มที่ยาวกว่าหัวเข็มเดิมทำให้ต้องลดระยะ Overhang ลงเล็กน้อย แรงกดที่ปลายเข็มหรือ tracking force ก็ลดต่ำลงเหลือแค่เพียง 1.4 กรัม ทำให้การปรับตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ท้ายอาร์ม, ตุ้มถ่วงน้ำหนักตรงส่วนแอนตี้สเกตและการปรับอะซิมุธต้องทำใหม่ทั้งหมด

ซึ่งตรงนี้จะอาศัยเวลามากพอสมควรเลยทีเดียวครับ ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป ไม่ง่ายเหมือนการติดตั้งแบบเดิม ๆ จากโรงงาน

สำหรับโทนอาร์ม TP 82 ผมหาวิธีการปรับ VTA (Verical Tracking Angle) ในโทนอาร์มตัวนี้ไม่เจอ ในคู่มือก็ไม่ได้บอกไว้ ซึ่งเข้าใจว่าถ้าปรับได้ วิธีการน่าจะยุ่งยากพอสมควร แต่โชคดีที่หัวเข็มรุ่น Carmen ของ Soundsmith มีความสูงใกล้เคียงกับหัวเข็มเดิมโดยเฉพาะเมื่อวางเข็มลงบนแผ่นเสียง จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในส่วนนี้มากนัก

การเปลี่ยนหัวเข็มที่มีราคาขายเกือบเท่าราคาของเทิร์นฯ ในกรณีนี้ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่าครับ เพราะนอกจากผมจะได้ยินเวทีเสียงที่ดีขึ้นอย่างมากทั้งทางด้านกว้างและด้านลึกแล้ว รายละเอียดในย่านเสียงกลางและแหลมยังดีขึ้นอย่างชัดเจน เสียงฟังดูสดใส กังวาน มีชีวิตชีวามากขึ้นจากฮาร์มอนิกของเสียงที่ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

เสียงที่ได้จาก TD 203 + Carmen มีลักษณะ forward presentation หรือภูมิใจนำเสนอมากขึ้นเล็กน้อย สมดุลเสียงบางด้านอาจจะผิดแผกไปบ้างจากซิสเตมที่เซ็ตอัปไว้ในทีแรก

แต่หลังจากผมขยับลำโพงอีกเล็กน้อยเพื่อชดเชยกันทุกอย่างก็ลงตัวโดยปราศจากคำถาม คำถามในที่นี้คือเทิร์นฯ ตัวนี้คุ้มหรือไม่ หรือการอัปเกรดด้วยการเปลี่ยนหัวเข็มใหม่นั้นคุ้มหรือไม่ เพราะคำตอบที่ได้คือ คุ้มค่าทั้ง 2 กรณี ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ยอมรับได้และงบประมาณที่อยากจะลงทุน

Thorens’s Best Value
ท่ามกลางตัวเลือกเป็นเทิร์นเทเบิ้ลสำหรับไฮไฟที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักโดยเฉพาะในระดับ entry level ผมว่า TD 203 น่าจะเป็นอะไรที่ถูกสร้างมาเพื่อยกระดับมาตรฐานของ entry level อย่างแท้จริง สิ่งที่ผมสามารถรับรู้ได้จาก Thorens TD 203 นั้นเป็นอะไรที่ไม่เคยชัดเจนเช่นนี้มาก่อนในเทิร์นฯ แบรนด์เนมระดับ entry level

อย่างที่ได้เรียนไปแล้วตั้งแต่ต้นว่ามันทำให้ภาพลักษณ์ของเทิร์นฯ ระดับ entry level ดูสูงขึ้นกว่าที่เคย หลายสิ่งหลายอย่างถูกหยิบยืมมาจากเทิร์นฯ ในระดับมิดเอนด์โดยเฉพาะโทนอาร์ม TP 82 ซึ่งคุณภาพดีเกินราคาไปมาก

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น ผมจึงใคร่ขอแนะนำ TD 203 ให้กับคนที่สนใจการเล่นแผ่นเสียงทุกท่านโดยเฉพาะท่านที่เพิ่งจะเริ่มหันมาค้นหาเสน่ห์ของเสียงจากแผ่นไวนิล นี่คือตัวเลือกในระดับราคาไม่เกินเอื้อมที่ปิดประตูความผิดหวังครับ

 

ที่มา AVTechGuide.com

แอดมินเว็บไทยแกรมโมโฟน Thaigramophone.com