วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

กว่าที่เราจะได้ฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงสเตอริโอราคาแพง จากเครื่องเล่นซีดี จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือแม้แต่เครื่องเล่น MP 3 อย่างทุกวันนี้ ทราบไหมว่ามันใช้เวลาพัฒนานานและต้องใช้มันสมองขนาดไหนกว่าเราจะได้ฟังอย่างมีความสุขเช่นนี้

เครื่องเล่นถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 1857 แล้วถูกพัฒนามาเรื่อยๆจนเป็นเครื่องเล่นแบบไขลานที่เรียกว่า แกรโมโฟน ในปี 1896 ที่ใช้เล่นกับแผ่นครั่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ซึ่งทั้งหนัก แข็งและแตกหักง่าย แต่มันก็เป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ฟังเพลงได้ หลักการง่ายๆ ของแผ่นเสียง  และเครื่องเล่นก็คือ แผ่นเสียงมีร่องขนาดเล็กจิ๋วเป็นจำนวนมาก ในร่องเหล่านี้มีปุ่มขรุขระมากมายเพื่อให้เข็มจากเครื่องเล่นแผ่นวิ่งผ่าน เข็มเปรียบเสมือนตัวรับแรงสั่นสะเทือนเวลาวิ่งไปสัมผัสกับปุ่มในร่องจนเกิดเป็นคลื่นเสียงส่งผ่านลำโพงที่มีลักษณ์คล้ายปากแตรออกมา ซึ่งถ้าฟังในสมัยนี้ เสียงค่อนข้างทุ้มต่ำ ไร้มิติ เป็นแบบโมโนที่ฟังแล้วอุดอู้ แต่มันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของยุคนั้น อีกทั้งเล่นด้วยสปีด 78 RPM (รอบต่อนาที) ซึ่งเร็วมาก เวลาลานไขไว้ใกล้หมด เสียงเพลงก็จะค่อยๆ อืดลงเหมือนเทปยืด



เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของเครื่องเล่นในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นในปี 1930 ปีเดียวกับที่แผ่นเสียงที่ผลิตด้วยพลาสติกไวนิลที่ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย น้ำหนักเบา และกระด้างน้อยกว่าแผ่นครั่งได้ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของแผ่นลองเพลย์ (จะเรียก LP หรือแผ่นอัลบัมก็ได้) เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เล่นด้วยสปีด 33 1/3 RPM โดยบริษัท RCA หลังจากปี1949 เป็นต้นมา แผ่นเสียงแบบ LP กลายเป็นตัวขายและทำเงินมากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีจนเป็นธุรกิจระดับโลกในเวลาต่อมา

ปี 1957 เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแบบกระเป๋าหิ้วหรือขนาดเล็ก รัศมีของจานวางแผ่นยังเป็น 10 นิ้ว แต่ก็เล่นแผ่น LP ที่มีรัศมี 12 นิ้วได้ ปี1960 เครื่องเสียงระบบสเตอริโอเริ่มได้รับความนิยม โดยที่แผ่นเสียงที่ผลิตในยุคนั้นระบุว่าสามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องเสียงโมโนและสเตอริโอ

ช่วงที่รุ่งเรืองของแผ่นเสียงและอุตสาหกรรมเครื่องเสียงก็คือยุค 1970s หลังจากเครื่องเสียงระบบสเตริโอแพร่หลาย ได้รับความนิยม ผู้ผลิตต่างคิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกมาตลอดเวลา มีทั้งระบบเสียง 4 ทิศทาง ที่ให้สุ้มเสียงและมวลเสียงมากกว่าสเตริโอ อีกทั้งให้มิติในการฟังที่สมบูรณ์แบบกว่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องเพิ่มลำโพงอีก 1 คู่ในการฟัง รวมเป็น 4 ตัว ซึ่งปกติ สเตอริโอใช้เพียง 2 ตัวเท่านั้น การบันทึกเสียงแบบ DTD หรือ Direct to Disk ก็ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ว่ากันว่าได้อรรถรสในการฟังอย่างมาก เนื่องจากนักดนตรีบันทึกเสียงการเล่นโดยต่อสายตรงเข้าเครื่องทำมาสเตอร์เทปสำหรับใช้ปั๊มแผ่นเสียงเลย เหมือนบันทึกเสียงสดๆ โดยไม่มีโอกาสแต่งเสียงหรือแก้ไขส่วนที่เล่นผิดพลาด แต่แล้วก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าที่คาดหวังกันไว้

นอกจากแผ่นเสียงแล้ว ยังมีเทปคาสเสตต์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในบ้านเราแพร่หลายและเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูก หาซื้อง่าย ตลอดจนหาซื้อเครื่องเล่นเทปได้ง่ายและราคาถูกกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาก แต่ในต่างประเทศ ราคาแผ่นเสียงและเทปเท่ากัน จึงไม่แปลกที่แผ่นเสียงได้รับความนิยมมากกว่าเทป ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเราเลย ที่ขาดไม่ได้คือ เทป 8 แทร็ก ที่มีตลับทึบคล้ายตลับวิดีโอเทป แต่เล็กกว่า และใหญ่กว่าตลับเทปคาสเสตต์ทั่วไป ใช้เล่นกับเครื่องเล่นเทปในรถยนต์เป็นหลัก แต่ก็แพร่หลายได้ไม่นาน เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องเล่นในรถยนต์นั่นเอง

ย่างเข้ายุค 1980s ระบบดิจิตัลถูกพัฒนามาแทนระบบอนาล็อก ทำให้การบันทึกเสียงเพื่อผลิตแผ่นเสียงรวดเร็ว ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพเสียงก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย เมื่อซีดี หรือคอมแพ็กต์ ดิสก์ถูกพัฒนาขึ้น มันได้พลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีไปอย่างสิ้นเชิง แผ่นเสียงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย เกะกะกินที่ หยิบมาเล่นลำบาก เก็บรักษายาก และอีกมากมายสุดที่จะหามาตำหนิเพื่อยกยอให้ซีดีดูเหนือชั้นกว่าในทุกๆกรณี ซึ่งมันก็จริง หากมองในปี 1982 ที่มันถือกำเนิดขึ้น แล้วปี  1983 เครื่องเล่นซีดีก็ถูกผลิตออกสู่ตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดซีดี มันให้สุ้มเสียงที่ครบถ้วน สมกับที่ทุกคนวาดหวัง ประหยัดพื้นที่เก็บ ใช้งานง่าย รักษาง่าย แต่ราคาแพงกว่าแผ่นเสียง ทว่าไม่มีใครบ่นมากนัก เพราะมันคือแฟชั่น คือการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ใครๆพากันตื่นเต้นกับระบบดิจิตัลที่จะมาแทนที่อนาล็อก

ดังนั้น นับแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ซีดีค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แผ่นเสียงก็ไม่ได้ถูกซีดีฝังกลบเสียในทันที คนที่ยังภักดีต่อแผ่นเสียงยังมีอยู่ นั่นคือกลุ่มคนที่มีอายุหน่อย เป็นกลุ่มที่ยังตัดใจจากอนาล็อกไม่ได้ หรือกลุ่มหัวโบราณที่ไม่เชื่อในประสิทธิภาพของดิจิตัล กลางยุค 80s มีเครื่องเล่นใหม่ออกมา นั่นคือ Mini Disc Player ที่ใช้เล่นกับมินิ ดิสก์ ซึ่งย่อส่วนจากซีดีลงมาให้เล็กลงอีก แต่จุข้อมูลได้แน่นพอกันหรืออาจมากกว่า ซึ่งมินิ ดิกส์ระบุว่าสามารถจุเพลงรวมกันเป็นเวลาถึง 74 นาที ซึ่งซีดีในขณะนั้นได้ราวๆ 60 กว่านาที แต่ด้วยความที่เป็นของใหม่ และไม่ได้รับความนิยม มินิ ดิสก์เลยอยู่ได้ไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่มันทิ้งไว้ให้ทุกคนตระหนักก็คือ คุณภาพของมัน ไม่ว่าจะเป็นอัลบัมเพลง หรือเพลงที่อัดจากแผ่นเสียงลงดิสก์ที่ฟังแล้วเหมือนฟังจากแผ่นเสียงจริงๆ สำหรับวิดีโอเทป ตลอดจนเลเซอร์ ดิสก์ ขอข้ามไปนะครับ เพราะมันเกี่ยวกับภาพหรือวิชวลมากกว่าเสียง อีกทั้งเป็นอีกระบบหนึ่งที่แยกออกมาจากระบบเครื่องเสียงที่เราฟังเพลงกันอยู่

จุดตกต่ำของแผ่นเสียงเริ่มต้นราวๆปลายยุค 80s ที่ช่วงนั้นซีดีออกมาเต็มตลาด แชร์ส่วนแบ่งเกิน 90% ของตลาดซอฟต์แวร์เครื่องเสียงทั่วโลก ส่วนเทปคาสเสตต์ก็ยังมีอยู่ แต่ผลิตน้อยลงตามอัตราส่วนความต้องการของตลาดเช่นกัน ในที่สุด ซีดีก็ครองตลาดเบ็ดเสร็จเกือบ 100% ราวต้นยุค90s ซึ่งเป็นยุคที่คนฟังเพลงบ้านเราตระหนักว่ายุคของแผ่นเสียงหมดลงแล้ว แผ่นเสียงคือขยะ หลายคนจึงนำแผ่นเสียงที่เก็บสะสมไว้มาเทขายในราคาถูก หรือแจกจ่ายเพื่อนฝูงไป เนื่องด้วยสาเหตุที่แจงไว้ข้างต้น คือไม่มีที่เก็บ เก็บรักษายาก ฯลฯ แล้วพวกเขาก็หันมากระหน่ำซื้อและสะสมซีดีแทน แต่เชื่อหรือไม่ ในต่างประเทศ แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากตลาดและอุตสาหกรรมดนตรี ถึงซีดีจะเป็นตลาดหลัก แต่แผ่นตัวอย่าง หรือแผ่นแจกดีเจตามสถานีวิทยุยังคงเป็นแผ่นเสียงอยู่ อาจเป็นแผ่นตัดที่มีด้านละเพลง หรือเป็นเพลงซิงเกิลที่อีกด้านหนึ่งเป็นเพลงเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ เพราะในต่างประเทศยังเห็นความสำคัญของแผ่นเสียงและรู้ว่ามันใช้โปรโมตงานได้ผลแน่นอนกว่าซีดี ส่วนที่ผลิตออกขายก็มีจำนวนน้อยมาก บางศิลปินก็เพียงหลักร้อย ถ้าศิลปินชื่อดังหน่อยก็หลักพัน สูงสุดก็ไม่เกิน 3,000 แผ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเสียงของศิลปินที่ออกในช่วงปี1992-1998 จึงมีจำนวนน้อยมาก และราคาแพงสุดกู่ ไม่ว่าจะเป็นงานของ Madonna, Red Hot Chili Peppers, U2, David Bowie, R.E.M. ตลอดจนศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟและกรันจ์ร็อคในช่วงนั้น

ปลายยุค 90s จนถึงปี 2009 เป็นช่วงที่แผ่นเสียงอยู่แบบเจียมเนื้อเจียมตัว บางศิลปินมีแผ่นเสียงก็จริง แต่ก็ผลิตน้อยเหมือนเดิม ขณะที่ซีดีเริ่มถูกรุกรานด้วยไฟล์ MP3 เพราะตัวซีดีเองมันดันสามารถนำไปแปลงไฟล์และบีบไฟล์ให้เล็กลงเพื่อฟังกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ราคาถูกและพกพาสะดวกนั่นเอง นับเป็นจุดถดถอยของซีดีและช่วงตีกลับเล็กๆ ของแผ่นเสียงไปด้วยในตัว ส่วนคนที่ฟังแผ่นเสียงอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะถ้าศิลปินที่เขาฟังแผ่นเสียงไม่ออกแผ่น ก็ยังมีซีดีให้หาซื้อมาฟังได้ แต่ถ้าออกแผ่นเสียง เขาย่อมเลือกแผ่นเสียงมากกว่าซีดีแน่นอน

ราวปี 2010 แผ่นเสียงกลับมาเจาะตลาดได้มากขึ้นจนหลายคนบอกว่าเป็นปีแห่งการคัมแบ๊กของแผ่นเสียงเลยก็ว่าได้ ในความเป็นจริงมันไม่ได้คัมแบ๊ก เพราะมันอยู่กับอุตสาหกรรมดนตรีมาตลอด เพียงแต่บางช่วงก็ถูกบดบังด้วยความทันสมัยและสะดวกสบายของซีดี แต่เมื่อเวลากว่า 20 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าซีดีไม่ได้ให้อะไรมากขึ้นกว่าที่มันมีในช่วงที่ถือกำเนิดขึ้น คนฟังเพลงส่วนหนึ่งจึงถวิลหาความขลังแบบเก่าๆจากแผ่นเสียง และอาชีพดีเจก็ทำให้ตลาดแผ่นเสียงยังคงอยู่และมีคนสนใจมากขึ้นทุกปี จนขยายตัวราวกับว่ายุคนี้กลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงในช่วงทศวรรษที่ 70s อีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นคนฟังเพลงและเก็บแผ่นเสียง ผมไม่เคยคิดว่าแผ่นเสียงล้าสมัย ไร้คุณค่า น่าเบื่อ มีปัญหาในการจัดเก็บหรือทำความสะอาด เพราะมันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก ไม่เคยห่างมือเป็นเวลานานๆ ยังมีความสุขจากการฟังแผ่นเสียง หาซื้อแผ่นเสียง ค้นหาวงแปลกๆ ที่ไม่เคยฟัง ฯลฯ ทุกวันนี้เลยได้พบกับผู้คนหลายหลากที่คิดตรงข้ามกับผม เคยเทขายแผ่นเสียงทิ้งเพราะทุ่มเทให้กับซีดี แต่ตอนนี้ เขาต้องการมากว้านซื้อแผ่นเสียงที่ตัวเองเคยขายทิ้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นี่คือหลักประกันอีกอย่างที่บอกพวกเราว่า แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากวงการ ไม่เคยล้าสมัยเลยครับ

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

ที่มา sanook.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *