วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

กว่าที่เราจะได้ฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงสเตอริโอราคาแพง จากเครื่องเล่นซีดี จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือแม้แต่เครื่องเล่น MP 3 อย่างทุกวันนี้ ทราบไหมว่ามันใช้เวลาพัฒนานานและต้องใช้มันสมองขนาดไหนกว่าเราจะได้ฟังอย่างมีความสุขเช่นนี้

เครื่องเล่นถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 1857 แล้วถูกพัฒนามาเรื่อยๆจนเป็นเครื่องเล่นแบบไขลานที่เรียกว่า แกรโมโฟน ในปี 1896 ที่ใช้เล่นกับแผ่นครั่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ซึ่งทั้งหนัก แข็งและแตกหักง่าย แต่มันก็เป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ฟังเพลงได้ หลักการง่ายๆ ของแผ่นเสียง  และเครื่องเล่นก็คือ แผ่นเสียงมีร่องขนาดเล็กจิ๋วเป็นจำนวนมาก ในร่องเหล่านี้มีปุ่มขรุขระมากมายเพื่อให้เข็มจากเครื่องเล่นแผ่นวิ่งผ่าน เข็มเปรียบเสมือนตัวรับแรงสั่นสะเทือนเวลาวิ่งไปสัมผัสกับปุ่มในร่องจนเกิดเป็นคลื่นเสียงส่งผ่านลำโพงที่มีลักษณ์คล้ายปากแตรออกมา ซึ่งถ้าฟังในสมัยนี้ เสียงค่อนข้างทุ้มต่ำ ไร้มิติ เป็นแบบโมโนที่ฟังแล้วอุดอู้ แต่มันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของยุคนั้น อีกทั้งเล่นด้วยสปีด 78 RPM (รอบต่อนาที) ซึ่งเร็วมาก เวลาลานไขไว้ใกล้หมด เสียงเพลงก็จะค่อยๆ อืดลงเหมือนเทปยืด



เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของเครื่องเล่นในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นในปี 1930 ปีเดียวกับที่แผ่นเสียงที่ผลิตด้วยพลาสติกไวนิลที่ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย น้ำหนักเบา และกระด้างน้อยกว่าแผ่นครั่งได้ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของแผ่นลองเพลย์ (จะเรียก LP หรือแผ่นอัลบัมก็ได้) เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เล่นด้วยสปีด 33 1/3 RPM โดยบริษัท RCA หลังจากปี1949 เป็นต้นมา แผ่นเสียงแบบ LP กลายเป็นตัวขายและทำเงินมากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีจนเป็นธุรกิจระดับโลกในเวลาต่อมา

ปี 1957 เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแบบกระเป๋าหิ้วหรือขนาดเล็ก รัศมีของจานวางแผ่นยังเป็น 10 นิ้ว แต่ก็เล่นแผ่น LP ที่มีรัศมี 12 นิ้วได้ ปี1960 เครื่องเสียงระบบสเตอริโอเริ่มได้รับความนิยม โดยที่แผ่นเสียงที่ผลิตในยุคนั้นระบุว่าสามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องเสียงโมโนและสเตอริโอ

ช่วงที่รุ่งเรืองของแผ่นเสียงและอุตสาหกรรมเครื่องเสียงก็คือยุค 1970s หลังจากเครื่องเสียงระบบสเตริโอแพร่หลาย ได้รับความนิยม ผู้ผลิตต่างคิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกมาตลอดเวลา มีทั้งระบบเสียง 4 ทิศทาง ที่ให้สุ้มเสียงและมวลเสียงมากกว่าสเตริโอ อีกทั้งให้มิติในการฟังที่สมบูรณ์แบบกว่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องเพิ่มลำโพงอีก 1 คู่ในการฟัง รวมเป็น 4 ตัว ซึ่งปกติ สเตอริโอใช้เพียง 2 ตัวเท่านั้น การบันทึกเสียงแบบ DTD หรือ Direct to Disk ก็ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ว่ากันว่าได้อรรถรสในการฟังอย่างมาก เนื่องจากนักดนตรีบันทึกเสียงการเล่นโดยต่อสายตรงเข้าเครื่องทำมาสเตอร์เทปสำหรับใช้ปั๊มแผ่นเสียงเลย เหมือนบันทึกเสียงสดๆ โดยไม่มีโอกาสแต่งเสียงหรือแก้ไขส่วนที่เล่นผิดพลาด แต่แล้วก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าที่คาดหวังกันไว้

นอกจากแผ่นเสียงแล้ว ยังมีเทปคาสเสตต์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในบ้านเราแพร่หลายและเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูก หาซื้อง่าย ตลอดจนหาซื้อเครื่องเล่นเทปได้ง่ายและราคาถูกกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาก แต่ในต่างประเทศ ราคาแผ่นเสียงและเทปเท่ากัน จึงไม่แปลกที่แผ่นเสียงได้รับความนิยมมากกว่าเทป ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเราเลย ที่ขาดไม่ได้คือ เทป 8 แทร็ก ที่มีตลับทึบคล้ายตลับวิดีโอเทป แต่เล็กกว่า และใหญ่กว่าตลับเทปคาสเสตต์ทั่วไป ใช้เล่นกับเครื่องเล่นเทปในรถยนต์เป็นหลัก แต่ก็แพร่หลายได้ไม่นาน เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องเล่นในรถยนต์นั่นเอง

ย่างเข้ายุค 1980s ระบบดิจิตัลถูกพัฒนามาแทนระบบอนาล็อก ทำให้การบันทึกเสียงเพื่อผลิตแผ่นเสียงรวดเร็ว ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพเสียงก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย เมื่อซีดี หรือคอมแพ็กต์ ดิสก์ถูกพัฒนาขึ้น มันได้พลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีไปอย่างสิ้นเชิง แผ่นเสียงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย เกะกะกินที่ หยิบมาเล่นลำบาก เก็บรักษายาก และอีกมากมายสุดที่จะหามาตำหนิเพื่อยกยอให้ซีดีดูเหนือชั้นกว่าในทุกๆกรณี ซึ่งมันก็จริง หากมองในปี 1982 ที่มันถือกำเนิดขึ้น แล้วปี  1983 เครื่องเล่นซีดีก็ถูกผลิตออกสู่ตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดซีดี มันให้สุ้มเสียงที่ครบถ้วน สมกับที่ทุกคนวาดหวัง ประหยัดพื้นที่เก็บ ใช้งานง่าย รักษาง่าย แต่ราคาแพงกว่าแผ่นเสียง ทว่าไม่มีใครบ่นมากนัก เพราะมันคือแฟชั่น คือการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ใครๆพากันตื่นเต้นกับระบบดิจิตัลที่จะมาแทนที่อนาล็อก

ดังนั้น นับแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ซีดีค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แผ่นเสียงก็ไม่ได้ถูกซีดีฝังกลบเสียในทันที คนที่ยังภักดีต่อแผ่นเสียงยังมีอยู่ นั่นคือกลุ่มคนที่มีอายุหน่อย เป็นกลุ่มที่ยังตัดใจจากอนาล็อกไม่ได้ หรือกลุ่มหัวโบราณที่ไม่เชื่อในประสิทธิภาพของดิจิตัล กลางยุค 80s มีเครื่องเล่นใหม่ออกมา นั่นคือ Mini Disc Player ที่ใช้เล่นกับมินิ ดิสก์ ซึ่งย่อส่วนจากซีดีลงมาให้เล็กลงอีก แต่จุข้อมูลได้แน่นพอกันหรืออาจมากกว่า ซึ่งมินิ ดิกส์ระบุว่าสามารถจุเพลงรวมกันเป็นเวลาถึง 74 นาที ซึ่งซีดีในขณะนั้นได้ราวๆ 60 กว่านาที แต่ด้วยความที่เป็นของใหม่ และไม่ได้รับความนิยม มินิ ดิสก์เลยอยู่ได้ไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่มันทิ้งไว้ให้ทุกคนตระหนักก็คือ คุณภาพของมัน ไม่ว่าจะเป็นอัลบัมเพลง หรือเพลงที่อัดจากแผ่นเสียงลงดิสก์ที่ฟังแล้วเหมือนฟังจากแผ่นเสียงจริงๆ สำหรับวิดีโอเทป ตลอดจนเลเซอร์ ดิสก์ ขอข้ามไปนะครับ เพราะมันเกี่ยวกับภาพหรือวิชวลมากกว่าเสียง อีกทั้งเป็นอีกระบบหนึ่งที่แยกออกมาจากระบบเครื่องเสียงที่เราฟังเพลงกันอยู่

จุดตกต่ำของแผ่นเสียงเริ่มต้นราวๆปลายยุค 80s ที่ช่วงนั้นซีดีออกมาเต็มตลาด แชร์ส่วนแบ่งเกิน 90% ของตลาดซอฟต์แวร์เครื่องเสียงทั่วโลก ส่วนเทปคาสเสตต์ก็ยังมีอยู่ แต่ผลิตน้อยลงตามอัตราส่วนความต้องการของตลาดเช่นกัน ในที่สุด ซีดีก็ครองตลาดเบ็ดเสร็จเกือบ 100% ราวต้นยุค90s ซึ่งเป็นยุคที่คนฟังเพลงบ้านเราตระหนักว่ายุคของแผ่นเสียงหมดลงแล้ว แผ่นเสียงคือขยะ หลายคนจึงนำแผ่นเสียงที่เก็บสะสมไว้มาเทขายในราคาถูก หรือแจกจ่ายเพื่อนฝูงไป เนื่องด้วยสาเหตุที่แจงไว้ข้างต้น คือไม่มีที่เก็บ เก็บรักษายาก ฯลฯ แล้วพวกเขาก็หันมากระหน่ำซื้อและสะสมซีดีแทน แต่เชื่อหรือไม่ ในต่างประเทศ แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากตลาดและอุตสาหกรรมดนตรี ถึงซีดีจะเป็นตลาดหลัก แต่แผ่นตัวอย่าง หรือแผ่นแจกดีเจตามสถานีวิทยุยังคงเป็นแผ่นเสียงอยู่ อาจเป็นแผ่นตัดที่มีด้านละเพลง หรือเป็นเพลงซิงเกิลที่อีกด้านหนึ่งเป็นเพลงเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ เพราะในต่างประเทศยังเห็นความสำคัญของแผ่นเสียงและรู้ว่ามันใช้โปรโมตงานได้ผลแน่นอนกว่าซีดี ส่วนที่ผลิตออกขายก็มีจำนวนน้อยมาก บางศิลปินก็เพียงหลักร้อย ถ้าศิลปินชื่อดังหน่อยก็หลักพัน สูงสุดก็ไม่เกิน 3,000 แผ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเสียงของศิลปินที่ออกในช่วงปี1992-1998 จึงมีจำนวนน้อยมาก และราคาแพงสุดกู่ ไม่ว่าจะเป็นงานของ Madonna, Red Hot Chili Peppers, U2, David Bowie, R.E.M. ตลอดจนศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟและกรันจ์ร็อคในช่วงนั้น

ปลายยุค 90s จนถึงปี 2009 เป็นช่วงที่แผ่นเสียงอยู่แบบเจียมเนื้อเจียมตัว บางศิลปินมีแผ่นเสียงก็จริง แต่ก็ผลิตน้อยเหมือนเดิม ขณะที่ซีดีเริ่มถูกรุกรานด้วยไฟล์ MP3 เพราะตัวซีดีเองมันดันสามารถนำไปแปลงไฟล์และบีบไฟล์ให้เล็กลงเพื่อฟังกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ราคาถูกและพกพาสะดวกนั่นเอง นับเป็นจุดถดถอยของซีดีและช่วงตีกลับเล็กๆ ของแผ่นเสียงไปด้วยในตัว ส่วนคนที่ฟังแผ่นเสียงอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะถ้าศิลปินที่เขาฟังแผ่นเสียงไม่ออกแผ่น ก็ยังมีซีดีให้หาซื้อมาฟังได้ แต่ถ้าออกแผ่นเสียง เขาย่อมเลือกแผ่นเสียงมากกว่าซีดีแน่นอน

ราวปี 2010 แผ่นเสียงกลับมาเจาะตลาดได้มากขึ้นจนหลายคนบอกว่าเป็นปีแห่งการคัมแบ๊กของแผ่นเสียงเลยก็ว่าได้ ในความเป็นจริงมันไม่ได้คัมแบ๊ก เพราะมันอยู่กับอุตสาหกรรมดนตรีมาตลอด เพียงแต่บางช่วงก็ถูกบดบังด้วยความทันสมัยและสะดวกสบายของซีดี แต่เมื่อเวลากว่า 20 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าซีดีไม่ได้ให้อะไรมากขึ้นกว่าที่มันมีในช่วงที่ถือกำเนิดขึ้น คนฟังเพลงส่วนหนึ่งจึงถวิลหาความขลังแบบเก่าๆจากแผ่นเสียง และอาชีพดีเจก็ทำให้ตลาดแผ่นเสียงยังคงอยู่และมีคนสนใจมากขึ้นทุกปี จนขยายตัวราวกับว่ายุคนี้กลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงในช่วงทศวรรษที่ 70s อีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นคนฟังเพลงและเก็บแผ่นเสียง ผมไม่เคยคิดว่าแผ่นเสียงล้าสมัย ไร้คุณค่า น่าเบื่อ มีปัญหาในการจัดเก็บหรือทำความสะอาด เพราะมันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก ไม่เคยห่างมือเป็นเวลานานๆ ยังมีความสุขจากการฟังแผ่นเสียง หาซื้อแผ่นเสียง ค้นหาวงแปลกๆ ที่ไม่เคยฟัง ฯลฯ ทุกวันนี้เลยได้พบกับผู้คนหลายหลากที่คิดตรงข้ามกับผม เคยเทขายแผ่นเสียงทิ้งเพราะทุ่มเทให้กับซีดี แต่ตอนนี้ เขาต้องการมากว้านซื้อแผ่นเสียงที่ตัวเองเคยขายทิ้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นี่คือหลักประกันอีกอย่างที่บอกพวกเราว่า แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากวงการ ไม่เคยล้าสมัยเลยครับ

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

ที่มา sanook.com

“แผ่นเสียงออริจินัล (Original)” กับ “แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)” เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

Add @Sanook.com

"แผ่นเสียงออริจินัล (Original)" กับ "แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)" เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

อนุสรณ์ สถิรรัตน์นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537 บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544 บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548 ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แผ่นเสียงแบบรีอิชชู (Re-Issue ต่อไปขออนุญาตเรียกย่อว่า แผ่นรี) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีนายทุนผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของคนฟังเพลงไม่ขนาดสาย กระแสคนเล่นแผ่นเสียงยังไม่มีเค้าว่าจะซาลงง่ายๆ ขณะที่คนฟังเทปคาสเซ็ตต์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่เทปไม่สามารถออกรีอิชชูได้อีกแล้ว เว้นแต่จะแอบทำแบบผิดกฎหมายเหมือนสมัยเทปผีในอดีต การฟังเพลงในอดีตในรูปแบบแผ่นเสียงจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงจากยุคอนาล็อก

สำรวจตลาดแผ่นเสียงรี

ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านเป็นช่วงน้ำขึ้นของตลาดแผ่นเสียงรีอย่างแท้จริง ช่วงที่ว่านี้มีคนหันมาฟังแผ่นเสียงมากขึ้น เรียกได้ว่ามีนักเล่นแผ่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่กว่าครึ่งของจำนวนที่ว่านี้ก็เลิกเล่นไปในระยะเวลาอันสั้น สืบเนื่องมาจากสู้ราคาไม่ไหว อีกทั้งเจอแผ่นรีที่คุณภาพเสียงไม่ดีอย่างที่ฟังจากเทปหรือซีดีในอดีต ตลาดแผ่นเสียงรีบ้านเราเปิดตัวแบบไม่มีทิศทาง หลายอย่างยังไม่พร้อม ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังทำออกมาขาย ผลก็เลยผิดคาดและผิดหวังอย่างมากครับ ทำให้คนเพิ่งเล่นเข็ดขยาด ไม่อยากเล่นต่อ ส่วนคนที่เล่นอยู่ก่อนแล้ว ก็ไตร่ตรองมากขึ้น เลือกสรรละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะแผ่นรีไทยไม่ได้ดีทุกแผ่น มาตรฐานไม่เท่ากันทั้งหมด และไม่มีราคามาตรฐานอีกด้วย ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นกับนายทุนที่ผลิตออกมาขายเป็นสำคัญ ส่วนแผ่นของศิลปินปัจจุบันก็ผลิตออกมาตามความต้องการของผู้ฟัง ใช้วิธีพรีออร์เดอร์ก่อน แล้วค่อยผลิตตามจำนวนออร์เดอร์ ราคาจัดว่ายังสูงอยู่ แต่ไม่เป็นปัญหากับแฟนตัวจริงของแต่ละศิลปินมากนัก

re-issuebonjovi

ในแง่ของคนฟังเพลงระดับเข้าสายเลือดส่วนใหญ่รู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้กับแผ่นรีของไทย ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ยังดีไม่พอครับ เพราะหามาสเตอร์ที่ดีพอไม่ได้ อีกทั้งทำเพื่อตอบสนองคนฟังเพลงไทยกลุ่มเดียวที่ไม่อยากเสียเงินหลักหมื่นซื้อแผ่นออริจินัลนั่นเอง ประการหลังนี่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการออกแผ่นรี คือช่วยให้คนรุ่นหลังได้ฟังแผ่นมีค่าในอดีตด้วยราคาที่เอื้อมถึง แต่กระนั้นราคาที่ขายในขณะนั้นก็อยู่ที่พันบาทปลายๆถึงสองพันบาทต้นๆ ซึ่งถือว่าสูงเอาการ กับคุณภาพของสุ้มเสียงและการผลิตที่มาตรฐานยังไม่แน่นอน เราจึงเห็นแผ่นรีศิลปินไทยที่ออกมาในยุคแรกๆในราคาลดลงมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากออกขายไปเพียง 1-2 ปี คนที่ซื้อไปฟังแล้วก็นำมาขายต่อในราคาหลักแค่ไม่ถึงพัน ทุกวันนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นแผ่นรีของงานดังๆในอดีตมากนัก เห็นแต่งานใหม่ของศิลปินยุคปัจจุบันที่ออกงานมาหลายฟอร์แมตที่รวมฟอร์แมตแผ่นเสียงไปด้วย แต่นั่นก็เป็นแค่การฟังงานที่มาสเตอร์จากดิจิตอลด้วยระบบอนาล็อกเท่านั้นเอง คุณภาพเสียงดีจริงๆ แต่ฟังซีดีก็ตอบสนองได้เพียงพอแล้วครับ

ว่ากันที่สาเหตุที่ทำให้แผ่นรีรุ่นแรกๆของศิลปินไทยไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายประการ อย่างแรกก็คือ หามาสเตอร์ตัวจริงที่เป็นเทปรีลแบบอนาล็อกไม่ได้ อันนี้จำเป็นมาก เพราะสุ้มเสียงจากเทปมาสเตอร์นี้ผ่านการมิกซ์และตรวจสอบจากเอนจิเนียร์และโปรดิวเซอร์มาเป็นอย่างดี แต่เมื่อหามาสเตอร์ไม่ได้ การนำซีดีหรือแผ่นเสียงออริจินัลมาทำมาสเตอร์ โดยแปลงไฟล์เป็นดิจิตอลมันทำให้สุ้มเสียงไม่เหมือนเดิม ไหนจะต้องทำเป็นไฟล์ดิจิตอลเพราะตกแต่งเสียงและลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ออก เท่าที่ฟังมาหลายชุด เสียงออกมาดีสุดมีคุณภาพเช่นเดียวกับฟังซีดี แต่ขาดมิติ ไม่มีตื้นลึกหนาบางเหมือนอนาล็อก ซึ่งคงตำหนิไม่ได้เพราะมาสเตอร์ทำได้เท่านั้น อีกทั้งรีออกมาขายในราคาที่ถูกกว่าออริจินัลหลายเท่า คุณภาพเกือบเทียบเท่าหรือด้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น อย่าลืมนะครับ ห้องอัดเสียงหรือสตูดิโอในบ้านเราได้มาตรฐานก็จริง แต่บางครั้ง เอนจิเนียร์ นักดนตรี โปรดิวเซอร์ก็ทำงานไม่ได้อย่างที่ต้องการ เว้นเสียงแต่เดินทางไปบันทึกเสียงยังต่างประเทศที่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยกว่า

original
re-issuegunsnroses

แผ่นออริจินัลยังน่าเล่นอยู่

ไม่ว่าศิลปินไทยหรือต่างประเทศ แผ่นออริจินัล (ขอย่อว่าแผ่นออริ) ยังเป็นตัวเลือกอันดับแรกของคนฟังเพลงอยู่ เพราะเป็นแผ่นที่ผลิตในยุคอนาล็อก สุ้มเสียงเป็นธรรมชาติ มีมิติ ต่อให้มีริ้วรอยที่ผิวแผ่นจนทำให้เกิดเสียงรบกวนอยู่บ้าง แต่คนเล่นก็ไม่รังเกียจ อย่างน้อยก็ให้ความรู้สึกถึงอารมณ์เดิมๆที่คุ้นเคยจากที่เคยฟังจากเทปและซีดีในอดีตมาก่อน แผ่นออริจะฟังดีแค่ไหน ขึ้นกับสภาพของแผ่นครับ ถ้าแผ่นสวย ไม่มีรอยน่าเกลียด อย่างไรก็ฟังดี ให้สุ้มเสียงตามที่คาดหวังครับ แต่ถ้ารอยมาก เสียงรบกวนมาก หรือยับเยินเกินกว่าจะรับได้ แผ่นรีจึงเป็นทางออก ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง กรณีของแผ่นไทย อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก อย่างที่กล่าวถึงสาเหตุจากมาสเตอร์ในช่วงต้น แต่แผ่นศิลปินต่างประเทศ มีผลอย่างเห็นได้ชัด แผ่นรีแทบไม่ต่างจากแผ่นออริ บางแผ่นอาจให้สุ้มเสียงที่ดีกว่าด้วย เพราะเขาเก็บมาสเตอร์เทปไว้อย่างดี นอกจากนี้อาจรื้อมาสเตอร์มารีมาสเตอร์เทปต้นฉบับอีกด้วย ซึ่งเขาเน้นที่คุณภาพ ออกแผ่นรีทั้งที อย่างน้อยคุณภาพเสียงต้องเท่าเทียมแผ่นออริ หรือถ้าเสียงดีกว่าออริจะยิ่งยอดเยี่ยมขึ้นไปอีก แผ่นรีของศิลปินต่างประเทศจึงเชื่อถือได้ และที่สำคัญ ราคาไม่แพงครับ ตามร้านขายแผ่นเสียงซีดีในกรุงเทพฯอยู่ราวๆ 800-1500 บาท

ข้อดีของแผ่นรี

กล่าวได้ว่ามีน้อยมาก แต่ข้อดีเหล่านี้ล้วนเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นออริมาแล้วทั้งสิ้น ผู้ผลิตจึงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นกับแผ่นรีครับ เช่น ความหนาของแผ่นรีเพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำหนักที่เพิ่มเป็นมาตรฐาน 180 แกรม จึงไม่เกิดปัญหาแผ่นงอหรือโก่ง เวลาเก็บวางไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็นแผ่นสีต่างๆ แผ่นลายหินอ่อน (Marbled Vinyl) แผ่นสีผสมแตกกระจาย (Splatted Vinyl) และแผ่นใส (Clear Vinyl) ดังนั้น แผ่นรีส่วนหนึ่งจึงเหมาะในการเก็บสะสมหรือประดับมากกว่าฟังด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ซื้อครับ

marbledvinyl
splattedvinyl
clearedvinyl

อนาคตแผ่นเสียงในไทย

ไม่มีอะไรน่าวิตกครับ ตราบใดที่คนฟังแผ่นเสียงยังไม่หันไปฟังสตรีมมิงแทน รบกวนทำความเข้าใจสักนิดครับ คนฟังแผ่นเสียง ซีดี เทป ส่วนใหญ่ก็ฟังสตรีมมิงด้วย เพราะใช้ในการฟังเป็นไกด์ไลน์ก่อนซื้อแผ่น หรืออาจฟังขณะที่ออกไปทำธุระนอกบ้าน ไม่ต้องมีฮาร์ดแวร์ แค่มือถือเครื่องเดียวก็ฟังได้ แต่ในทางกลับกัน คนที่ฟังสตรีมมิงเป็นหลัก คงไม่สามารถเบนเข็มมาฟังแผ่นเสียงได้ อาจมีฟังซีดีหรือเทปบ้าง แต่การจะข้ามมาฟังแผ่นเสียงนั้น ต้องลงทุนอีกมาก ซิสเต็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็หลักหลายหมื่น ไหนจะต้องซื้อแผ่นเสียงฟังอีก รายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวครับ

ด้วยเหตุนี้ แผ่นเสียงยังมีคนฟังอยู่ต่อไป แต่แผ่นรีจะอยู่ลำบากขึ้น แผ่นออกใหม่ของศิลปินไทยก็ต้องดูเป็นกรณีไป ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อนาคตเราอาจจะได้เห็นนายทุนหน้าใหม่ หรือบริษัทที่อยากโดดมาทำธุรกิจแผ่นเสียงศิลปินไทยกับเขาบ้างก็ได้ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาในช่วงสิบปีมานี้ นายทุนหน้าใหม่คงต้องลงทุนมากขึ้น หามาสเตอร์ตัวจริงของศิลปินในอดีตให้ได้ ซึ่งศิลปินหลายรายในอดีตก็เป็นเจ้าของสิทธิ์เพลงของตนเอง และเก็บมาสเตอร์ผลงานของตนเองไว้อย่างดี รอแต่ว่าใครจะติดต่อของานไปออกแผ่นเสียงและมีผลตอบแทนที่ไม่เอาเปรียบจนเกินไปนั่นเอง เอาที่ใกล้ตัวกว่านั้น นายทุนใหม่อาจเป็นคนที่เคยผิดหวังกับแผ่นรีไทยในอดีต รู้ซึ้งถึงข้อบกพร่องของแผ่นรีที่ผลิตออกมาในช่วงนั้น เมื่อผันตัวเองมาเป็นนายทุน ย่อมไม่ต้องการให้มีข้อบกพร่องเหล่านั้นอีก เรียกว่าแผ่นรีในอนาคตคุณภาพเสียงต้องดีขึ้น คุณภาพเชื่อถือได้ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ราคาเป็นมิตรกับคนฟังครับ มารอลุ้นกันครับ

ทีนี้ คุณจะเลือกเล่นแผ่นออริหรือแผ่นรีก็ต้องตัดสินใจกันแล้วละครับ แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือเลือกเล่นทั้งสองอย่างตามสภาพคล่องของกระเป๋าตังค์ครับ เพราะผมก็ทำแบบนี้ด้วย

ที่มา sanook.com

ครั้งแรกใน 2 ทศวรรษ! ยอดขายแผ่นเสียงแซงหน้าแผ่นซีดีในสหรัฐฯ เหตุกระแสหวนอดีตแรงเกินคาด

ตอนนี้กระแสโหยหาอดีตมาแรงอย่างคาดไม่ถึง ทำให้อุตสาหกรรมเพลงในสหรัฐอเมริกาเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง นั่นคือยอดขายแผ่นเสียง (Vinyl) ในปี 2563 มีมากกว่าแผ่นซีดี (CD) แล้ว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ

เรื่องในอดีตกลายเป็นที่สนใจ

Recording Industry Association of America เปิดเผยผลสำรวจอุตสาหกรรมเพลงในสหรัฐอเมริกาช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ว่า ยอดขายแผ่นเสียงคิดเป็นมูลค่า 232.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนแผ่นซีดีคิดเป็นมูลค่า 129.9 ล้านดอลลาร์ ลดลง 48%

ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เพราะช่วงเวลานั้นเทปคาสเซ็ท และแผ่นซีดี เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมเพลงมากขึ้น และทำให้แผ่นเสียงแทบไม่มีที่ยืนในตลาดนี้ จนกระทั่งปี 2543 แผ่นเสียงเริ่มกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะกระแสหวนหาอดีต จนกระทั่งครึ่งแรกของปี 2563 แซงหน้ายอดขายแผ่นซีดีได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จับต้องได้ในอุตสาหกรรมเพลง เช่นแผ่นเสียง, แผ่นซีดี หรือเทปคาสเซ็ท ยังหดตัว 23% ในครึ่งแรกของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 376 ล้านดอลลาร์ ที่สำคัญอุตสาหกรรมเพลงยังถูกครอบครองตลาดโดยบริการฟังเพลงออนไลน์ หรือ Streaming เช่นเดิม ผ่านการกินส่วนแบ่งกว่า 85% หรือ 4,800 ล้านดอลลาร์

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมดนตรีในสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้น 5.6% คิดเป็นมูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปี 2563 ส่วนในตลาดโลก บริการฟังเพลงออนไลน์ยังกินส่วนแบ่งของตลาดนี้จำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากความสะดวกในการรับฟัง และผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกมากขึ้น

สรุป

การฟังเพลงยังเป็นความบันเทิงที่ผู้บริโภคชื่นชอบ และยินดีจ่ายหากแพลตฟอร์มการฟังเพลงเหล่านั้นให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่น่าสนใจคือตลาดหวนคืนอดีต เพราะแผ่นเสียง รวมถึงเทปคาสเซ็ทมีการเติบโตขึ้นจริงๆ และยังไม่มีใครรู้ว่ากระแสนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

อ้างอิง // CNN

ที่มา BrandInside.asia

จริงหรือ ? ที่การกลับมาของแผ่นเสียง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว The Guardian ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยรายงานนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงงานผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนานนับศตวรรษ ยังคงใช้เครื่องจักรที่มีอายุเก่าแก่นานนับสิบปี ก่อนที่จะเชื่อมโยงมายังโรงงานผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย

ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดของเนื้อหารายงานดังกล่าว มาดูที่สถานการณ์ความเป็นไปของวงการแผ่นเสียงหรือแผ่นไวนิลกันเสียก่อน ปัจจุบันในขณะที่รายได้จากธุรกิจมิวสิกสตรีมมิงนำหน้าช่องทางการเสพดนตรีอื่น ๆ แต่ตลาดของแผ่นเสียงก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ในเวลานี้ชาวอเมริกันได้ใช้เงินไปกับแผ่นเสียงมากพอ ๆ กับการซื้อแผ่นซีดี ขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงในสหราชอาณาจักรมียอดสูงถึง 4 ล้าน 3 แสนแผ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่ 12 ติดต่อกันของยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นหากคุณเป็นหนึ่งในผู้คนหลายล้านคนที่ยอมรับการกลับมาอีกครั้งของแผ่นเสียง มันก็คุ้มค่าที่จะได้รู้ว่าแผ่นเสียงเหล่านั้นมาจากไหนและผลิตกันอย่างไร

ภายในโรงงานผลิตแผ่นเสียงจะมีตู้บรรจุที่เรียกว่า ฮ็อปเปอร์ ประจำแต่ละสถานีที่ทำการปั้มแผ่น ในนั้นเต็มไปด้วยเม็ดโพลีเมอร์ที่มีลักษณะคล้ายถั่วเลนทิล บรรจุไว้ตรงช่องทางลงในเครื่องจักรให้ความร้อน และหลอมรวมเพื่อสร้างก้อนวัตถุดิบที่มีลักษณะคล้ายกับลูกพัค (puck) ในกีฬาฮอกกี้ และลูกสควอช สำหรับเตรียมใช้ในการผลิตแผ่นเสียง

เม็ดโพลีเมอร์ที่ใช้ในการผลิตแผ่นเสียง – ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/

ในสต็อกสำหรับเก็บเม็ดพลาสติก ทางผู้สื่อข่าวได้พบกับกล่องกระดาษแข็งที่ว่างเปล่า ซึ่งมีขนาดใหญ่ราวกับตู้เย็น บนกล่องถูกทำเครื่องหมายด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่ว่า “สารประกอบไวนิล” และ “ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย” เม็ดไวนิลเหล่านี้ถูกใช้ในกระบวนการผลิตเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เดิมวัตถุดิบเหล่านี้ถูกผลิตมากที่สุดโดยบริษัทปิโตรเคมีซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จนกระทั่งตลาดแผ่นเสียงซบเซาไปหลังจากปี 1990

ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วมาจากต่างประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งของโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่ผู้ผลิตแผ่นเสียงชาวอเมริกันใช้ในปัจจุบันนี้มาจาก บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (TPC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ

TPC ได้ผลิตเม็ดไวนิลแบบพิเศษนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้เวลาขับรถครึ่งชั่วโมงไปทางใต้ของเมืองหลวง ทีมงานของ The Guardian อ้างว่าเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยพวกเขาได้พบกับอดีตวิศวกรปิโตรเคมีชาวเบลเยี่ยม ซึ่งได้แสดงความประหลาดใจหลังจากที่ได้ฟังทีมงานเล่าว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่แผ่นเสียงนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้น

แต่อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นเสียงยังคงใช้กระบวนการผลิตแบบโบราณและวัตถุดิบที่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าทาง TPC จะไม่ยินดีให้ทางทีมงานเข้าชมกระบวนการผลิต PVC … ซึ่งสิ่งที่เขาคาดเดาไว้นั้นก็เป็นความจริง

ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/
ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/

หลังจากล้มเหลวในการพยายามขอเข้าชมกระบวนการผลิต ตัวแทนจาก SCG Chemicals ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TPC และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ตกลงกับทางทีมงานว่าจะพบกันที่โรงแรมเพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา และเพื่ออธิบายขั้นตอนวิธีการผลิตเม็ดไวนิล

กระบวนการผลิตสารประกอบ PVC นั้นมีความซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่หลักการพื้นฐานนั้นง่ายที่จะจินตนาการ หากคุณเคยเล่นปั้นดินน้ำมัน Play-Doh ให้วางไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของอุปกรณ์มีลักษณะคล้ายเครื่องบดกระเทียม และกดให้มันออกมาทะลุออกมาอีกด้านหนึ่ง เพียงเท่านั้นคุณก็รู้แล้วว่า PVC นั้นผลิตกันอย่างไร

เมื่อสังเคราะห์ PVC จากสารประกอบทางเคมีแล้วเม็ดพลาสติกดิบจะถูกผสมกับสารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ แล้วให้ความร้อนเพื่อหลอมรวมสารประกอบพลาสติกเหล่านั้น จากนั้นก็รีดมันออกมาเหมือนเส้นสปาเกตตี้ก่อนจะนำมาตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ

ตัวแทนจาก SGC ได้อธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ความเชี่ยวชาญเชิงอุตสาหกรรมในระดับสูงและการตรวจสอบการควบคุมคุณภาพอย่างละเอียดคือสิ่งจำเป็นในการผลิตสารประกอบไวนิลคุณภาพสูงเช่นนี้

แต่คำถามที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของการผลิตไวนิล วัสดุ PVC ซึ่งมีสารเคมีก่อมะเร็ง และน้ำเสียจากกระบวนการผลิตซึ่งทางบริษัทเคยถูกกล่าวหาจากกลุ่มกรีนพีชว่าได้ปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตัวแทนจาก SGC ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดทางอีเมล

ในยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียง สถานการณ์นี้ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่แตกต่างกันเลย ในยุค 70 บริษัท Keysor-Century Corporation ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลอสแองเจลิสนั้นผลิต PVC ประมาณ 20 ล้านกิโลกรัมต่อปีป้อนให้กับอุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของจำนวนเงินประจำปีทั้งหมดที่ใช้ในประเทศในเวลานั้น

Keysor-Century ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษอย่างผิดกฎหมาย และถูกปรับเป็นเงินถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการปกปิดเรื่องความปลอดภัยของคนงาน การปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ และการทิ้งสารพิษลงสู่ท่อระบายน้ำ

เราไม่ทราบถึงปริมาณของน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือจำนวนมลพิษที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการผลิตแผ่นเสียง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ แผ่นเสียงไวนิล เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดี เป็นผลิตผลจากน้ำมันดิบ ซึ่งถูกผลิตและทำลายไปนับพันล้านหน่วยตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

ในระหว่างที่ยอดขายแผ่นเสียง เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดีในสหรัฐมียอดขายสูงสุด ได้ถูกบันทึกว่ามีการใช้พลาสติกเกือบ 60 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 140 ล้านกิโลกรัมต่อปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงที่เดียว

การปฏิเสธสื่อบันทึกเสียงทางกายภาพเหล่านั้นแล้วหันมาบริโภคเพลงจากสตรีมมิงคือทางออกที่ดีกว่าจริงหรือ ? นี่เป็นวิธีที่ผิดในการกำหนดกรอบปัญหา เนื่องจากสื่อดิจิทัลก็เป็นสื่อทางกายภาพเช่นกัน

แม้ว่าไฟล์เสียงดิจิทัลจะเป็นอะไรที่ดูเสมือนจริง และไม่สามารถจับต้องได้โดยตรง แต่ไฟล์เหล่านั้นก็ยังอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของการจัดเก็บข้อมูลการประมวลผลและการส่งผ่านข้อมูล ที่อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าพลาสติกปิโตรเคมีที่ใช้ในการผลิตสื่อบันทึกเสียงอย่างแผ่นเสียงเสียอีก ดังนั้นการสตรีมเพลงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเผาถ่านหิน, ยูเรเนียมและก๊าซ โดยทางอ้อมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็มีปริมาณพลังงานที่ต้องใช้ในการสตรีมเพลงแต่ละเพลง หรือแต่ละอัลบั้มนั้นน้อยมาก น้อยกว่าการฟังเพลงเดียวกันจากแผ่นเสียง, เทปคาสเซ็ตหรือแผ่นซีดี ทว่าการเปรียบเทียบโดยตรงเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เราจำเป็นต้องเข้าใจผลกระทบด้านพลังงานโดยรวมของสตรีมจากหลายพันล้านคนที่สามารถเข้าถึงเพลงได้อย่างไม่จำกัด

วัฒนธรรมการฟังเพลงสมัยใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้อุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ จะมีการผลิตน้อยลงมากเมื่อเทียบกับในยุครุ่งเรือง แต่กลับมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นถึง 200 ล้านกิโลกรัมต่อปีหลังจากปี 2015

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มสตรีมมิงเหล่านี้ คือ สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, แล็ปท็อป ซึ่งพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท 8 แห่งในเนเธอร์แลนด์กำลังสำรวจวิธีการทำไวนิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตแผ่นเสียงจากวัสดุรีไซเคิลและวัตถุดิบที่ปราศจาก PVC ทว่าจากการผลิตแผ่นต้นแบบแล้วนำไปสาธิตประสิทธิภาพ แผ่นเสียงวัสดุใหม่นี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากให้คุณภาพเสียงที่ไม่ดีเท่าที่ควร และเนื้อวัสดุโค้งงอง่ายกว่าแผ่นไวนิล

บริการสตรีมมิงเพลงอย่าง Spotify เริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาเป็นคำแนะนำในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในศูนย์ข้อมูลของตนเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Spotify ได้ทยอยเลิกใช้งานโครงสร้างพื้นฐานสตรีมมิงส่วนใหญ่ของตัวเอง และหันไปใช้บริการร่วมกับระบบจัดเก็บข้อมูล Google Cloud แทน เพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา AVTechGuide.com และ The Guardian