พื้นฐาน “เทิร์นเทเบิ้ลและเครื่องเล่นแผ่นเสียง”
“แผ่นเสียงไม่เคยตายไปจากเรา” การกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น (อีกครั้ง) ของเทิร์นเทเบิ้ลและแผ่นเสียงในช่วงนี้หลายปีมานี้น่าจะเป็นการตอกย้ำว่าคำพูดข้างต้นไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยแต่อย่างใด เสน่ห์ของเทิร์นเทเบิ้ลและแผ่นเสียงนั้นอาจจะพูดถึงได้ในหลายแง่มุม แต่ในมุมมองของผมในฐานะคนที่ชอบเครื่องเสียงและมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมควบคู่กันผมมองว่าเสน่ห์ที่น่าสนใจที่สุดของมันคือ “ความซับซ้อนที่แฝงตัวอยู่ในความเรียบง่าย” ลองดูคลิปแสดงการทำงานของปลายหัวเข็มในร่องเสียงของแผ่นเสียง (4:25) ด้านล่างนี้สิครับ การทำหน้าที่ของเทิร์นเทเบิ้ลและแผ่นเสียงเพื่อ playback เอาเสียงเพลงกลับออกมาจากแผ่นจานกลมสีดำ ๆ นั้นเป็นความเรียบง่ายที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง เมื่อแผ่นเสียงสีดำ ๆ (สีอื่นก็มีแต่ไม่นิยมเท่าสีดำ) กำลังหมุนอย่างสม่ำเสมออยู่บนเทิร์นเทเบิ้ลตามรอบหมุนที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ ร่องเสียงขนาดเล็กจิ๋วมาก ๆ (จนต้องส่องด้วยกล้องขยายกำลังสูง) บนแผ่นก็ทำหน้าที่นำพาปลายเข็มของหัวเข็มที่วิ่งอยู่ในร่องเสียงให้ขยับเคลื่อนไหวไปมาตามความขรุขระคดเคี้ยว ทุก ๆ การขยับของปลายหัวเข็มจะถูกกลไกภายในหัวเข็มตีความเป็นค่าทางไฟฟ้า (signal) ก่อนจะส่งออกไปทางสายไฟเส้นเล็กจิ๋วผ่านโทนอาร์มหรือแขนยึดหัวเข็มซึ่งทำหน้าที่คอยประคองหัวเข็มอยู่ ออกไปสู่ภาคขยายสัญญาณจากหัวเข็ม (phono preamplifier), ภาคขยายเสียง (amplifier) และลำโพง (loudspeaker) ต่อไปตามลำดับ Basic Turntable Anatomyส่วนประกอบของเทิร์นเทเบิ้ลหรือที่เรียกแบบรวม ๆ ว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นที่จริงแล้วมันมีองค์ประกอบที่เรียบง่ายมากอย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้น แต่การทำให้องค์ประกอบแต่ละส่วนที่ว่านี้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดนั้นคือที่มาของความแตกต่างในคุณภาพของเทิร์นเทเบิ้ลแต่ละรุ่น และนั่นคือที่มาของความแตกต่างในคุณภาพและระดับราคานั่นเอง ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าองค์ประกอบพื้นฐานแต่ละส่วนทำหน้าที่ของมันอย่างไร 1. แท่นเครื่องและตัวถัง (plinth and chassis)ในเทิร์นเทเบิ้ลเครื่องหนึ่งอาจจะมีทั้งแท่นเครื่องและตัวถังเป็นส่วนประกอบ หรือจะมีเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วแต่การออกแบบ…