เว็บบอร์ด

Please or Register to create posts and topics.

ทำไมราคา "แผ่นเสียงไทย" กับ "แผ่นเสียงสากล" จึงแตกต่างกัน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ทำไมราคา "แผ่นเสียงไทย" กับ "แผ่นเสียงสากล" จึงแตกต่างกัน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่รอบตัวมาตลอดเลยครับ ในกลุ่มคนฟังแผ่นเสียงที่ฟังทั้งเพลงไทยและสากลมักมีเครื่องหมายคำถามตามมาเสมอเวลาซื้อแผ่นเสียงเพลงไทย "ทำไมแพงจัง" "มันน่าจะถูกกว่านี้ได้นะ" "ทำไมแผ่นเพลงสากลถูกกว่าตั้งแยะ" ฯลฯ มันอาจเป็นคำถามลอยๆ ที่แม้แต่คนถามเองก็ไม่ทราบจะไปหาคำตอบจากไหน แต่จริงๆ แล้วคนผลิตและผู้ค้าควรมีคำตอบให้ได้นะครับ ไม่ได้หาคำตอบยากเลย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นไปตามหลักความเป็นจริงครับ

ราคาแผ่นเสียงไทยแพงจริงหรือ?

มีคำถามจากเพื่อนๆ มาหลายคนเหมือนๆ กันเกี่ยวกับราคาของแผ่นเสียงที่มีขายอยู่ในตลาดนักเล่นยุคนี้ ทำไมราคาไม่เหมือนกัน ทำไมราคาแผ่นไทยแพงกว่าแผ่นสากล ฯลฯ ผมจะสรุปคร่าวๆ ให้ทราบกันครับ

เรื่องแพงนั้น แพงจริงครับ เหตุผลหลักๆ เลยก็นับจากความเปลี่ยนแปลงไปตามค่าเงินและสถานการณ์โลกเหมือนกับประเทศอื่นๆ นั่นแหละครับ ช่วงพ.ศ. 2510-20 แผ่นเสียงเพลงไทยราคาร้อยกว่าบาท เต็มที่ก็ 190 บาท พอเข้ายุค 2521-30 ราคากระเถิบอีกหน่อยเป็น 250-350 บาท แผ่นมือสองราคา 30-100 บาท หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเสียงใหญ่และร้านขายแผ่นเสียงทั่วไป จนถึงยุคที่เลิกผลิตแผ่นเสียง ราคาก็ไม่ได้สูงจนผิดปกติ ตรงกันข้าม กลับถูกลง เพราะซีดีได้รับความนิยมมากขึ้น จึงไม่มีใครคิดจะซื้อสะสมเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมีขายเกลื่อนตลาด เรียกได้ว่า อยากซื้อเมื่อไหร่ก็เดินไปซื้อได้เลย

ย่างเข้ายุค 2000 หรือราว 2540 เป็นต้นมา ซีดีถูกก๊อปปี้้ได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมไรต์แผ่น ทำให้แผ่นเสียงได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ บ้านเราก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย แม้ยังไม่มีค่ายเพลงผลิตแผ่นเสียงขาย แต่คนที่โตมากับเพลงไทยในยุค '80s มีกำลังซื้อ มีงานการทำมั่นคง จึงหาทางเรียกอดีตกลับคืนมา แผ่นเสียงเก่าเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้กลับไปสัมผัสอดีตได้อีก เพราะสมัยนั้น พวกเขายังไม่มีรายได้มากพอ ทำได้แค่ซื้อเทปฟังกัน เมื่อมีโอกาสฟังแผ่นเสียงเพื่อรำลึกอดีตและเก็บสะสม พวกเขาไม่รีรอ ราคาแผ่นเสียงมือสองในท้องตลาดก็เริ่มถีบตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด

ตัวแปรสำคัญของราคาแผ่นไทยก็คือต้นทุนครับ แต่ละชุด แต่ละอัลบั้มมีต้นทุนไม่เท่ากัน อย่างแรกเลยคือค่าลิขสิทธิ์ที่ผลิตต้องจ่ายกับเจ้าของงาน ไม่ว่าจะเป็นคนแต่งเพลง คนร้อง ซึ่งหมายถึงถือลิขสิทธิ์ไว้นะครับ ตลอดจนค่ายเพลงเดิมที่อาจถือสิทธิ์อยู่ด้วย 

Polycat 80 Kisses Vinyl

ราคาแผ่นเสียงสากลถูกกำหนดไว้ แต่แผ่นเสียงไทยขึ้นอยู่กับต้นทุนและความพอใจ

บรรดาแผ่นเสียงเพลงสากลที่นำเข้าจากต่างประเทศล้วนมาราคามาตรฐานมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว เพราะสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเพลงและแผ่นเสียงในแต่ละประเทศกำหนดไว้แล้ว เหมือนในอเมริกาสมัยที่ยังไม่มีซีดี ราคาแผ่นเสียงกับเทปเท่ากัน ประมาณ 6.99 ดอลลาร์ แผ่นคู่หรือเทปคู่ราว 10.99-12.99 ดอลลาร์ ทีนี้เมื่อสั่งเข้ามาขาย ผู้สั่งจำเป็นต้องสั่งมาครั้งละหลายแผ่นเพื่อให้ได้ราคาส่งหรือราคาทุน เหมือนสมัยที่ห้างเซ็นทรัล(เดิม) สั่งแผ่นเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก อัลบั้มละหลายสิบหลายร้อยก๊อปปี้เพื่อกระจายให้ทั่วถึงทุกสาขา นอกจากนี้ค่าขนส่ง ภาษี และอื่นๆ ผู้สั่งหรือผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบหมด แต่ต้นทุนเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างตายตัว เมื่อวางขายในไทย ราคาขายแต่ละแห่งจึงแทบไม่แตกต่างกันเลย ในยุคของผม ปี 2510-2530 ราคาประมาณ 100 ต้นๆ ถึง 300 ปลายๆ พอเข้ายุคที่เทปผีรุ่ง แต่ละยี่ห้อแข่งกันออกเร็ว ต้องจ้างคนทำงานสายการบินอย่างสจ๊วตหรือแอร์หิ้วแผ่นให้ ก็ต้องจ่ายพิเศษให้ บางครั้งราคาก็สูงขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ก็ไม่เกิน 500 บาท

ส่วนแผ่นไทยยิ่งถูกครับ เพราะส่วนใหญ่ปั๊มในบ้านเราเอง สมัยนั้นมีโรงงานปั๊มอยู่ (ขออภัยที่หารายละเอียดไม่ได้ครับ) คุณภาพก็แบบไทยๆ ครับ มาตรฐานเป็นรองแผ่นนอกอยู่แล้ว แต่ก็ฟังได้ดีและมีมาตรฐานในระดับหนึ่งที่สมราคาร้อยกว่าบาท ไม่เกิน 300 เข้ายุครุ่งเรืองของอาร์ เอส และแกรมมี่ ราคาก็ขึ้นมาอีกไม่ถึง 100 บาท ยังจับต้องกันได้ครับ ทั้งนี้เพราะต้นทุนที่ผลิตในประเทศนั่นเอง อีกทั้งค่ายเพลงเป็นผู้กำหนด ยอดขายก็ได้หลักหมื่นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเพลงสากลแผ่นผีที่คนไทยปั๊มขายเองตกแผ่นละประมาณร้อยกว่าบาท แผ่นเล็ก 7 นิ้ว 30 บาท หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเสียงทั่วไปด้วยซ้ำครับ

ใครที่เคยผ่านยุคเปิดท้ายรถขายมาแล้ว คงเคยเห็นมีคนสะสมแผ่นเสียงเอาแผ่นมาวางขายกันถูกๆ แผ่นละ 50-100 บาทมาแล้ว แผ่นดีๆ ของนักสะสมถูกนำมาเทขายมากมาย เพียงเพราะนักสะสมหันไปฟังซีดีแทน และคิดว่าแผ่นเสียงตายแน่นอน ของดีราคาถูกจึงถูกกว้านซื้อไปมากในช่วงนั้น เวลาผ่านไป คนที่นำแผ่นเสียงมาเทขายในตอนนั้น ก็เริ่มหาซื้อแผ่นที่เคยขายไปกลับมาในตอนนี้ แต่แผ่นที่เคยขายไปในราคา 100 บาท กลับต้องซื้อมาในราคาสูงกว่าถึง 5-10 เท่า

ราคาแผ่นเสียงสูงขึ้น หลังจากซีดีแผ่ว

ย่างเข้ายุค 2000 เป็นที่ทราบกันว่าซีดีเริ่มเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ นับแต่มันถูกก๊อปปี้เป็นแผ่นซีดีอาร์ได้ ยิ่งมีช่องทางฟังเพลงให้เลือกมากขึ้นอย่างสตรีมมิ่ง ซีดีเหมือนจะถึงจุดตีบตัน แต่นั่นเหมือนกับการปลุกให้ตลาดแผ่นเสียงได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง (แผ่นเสียงไม่ได้กลับมาอีก เหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจนะครับ เพราะมันไม่เคยหายไปจากตลาด เพียงแค่ผลิตน้อยลงในยุคของซีดีเท่านั้นเอง)

ความเป็นไปของตลาดแผ่นเสียงเพลงสากลหลังปี 2000 เป็นต้นมา ค่อนข้างจำกัด คนฟังเพลงที่อยากซื้อแผ่นเสียงมีโอกาสไม่มาก เนื่องจากผลิตจำนวนน้อย ไม่ก็ผลิตแบบจำกัดจำนวน ขายหมดแล้วไม่ปั๊มเพิ่ม ราคาจึงสูงขึ้นไปโดยปริยาย ราคาแผ่นเสียงเฉลี่ยในช่วงนั้นจึงอยู่ระหว่าง 700-1,000 บาท แต่เมื่อถึงยุคนี้ อัลบั้มดังๆ อัลบั้มขายดีในอดีตถูกนำมาผลิตใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ตอบสนองนักฟังได้ค่อนข้างทั่วถึง

ส่วนตลาดเพลงไทยไม่เป็นเช่นนั้น แผ่นออริจินัลทั้งหลายราคายังไม่สูง เพราะตลาดแผ่นเสียงเพิ่มได้รับความนิยม กลับถูกพ่อค้าหรือนักเก็งกำไรกว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์แผ่นไทยหลังปี 2000 เป็นต้นมาแทบจะขาดตลาดไปเลย ไม่เพียงคนไทยที่หันมาซื้อ แม้แต่ชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบเพลงไทยในยุค '60s-'70s ก็มาซื้อไปสะสมและไปเก็งกำไรในต่างประเทศด้วย แผ่นไทยหลายอัลบั้มหลายศิลปินจึงมีราคาสูงขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการปั่นราคาในหมู่พ่อค้าด้วยกันเอง อีกส่วนเกินจากคนฟังหน้าใหม่ที่เพิ่งสนใจแผ่นเสียง ไม่ทราบว่าราคาที่เหมาะสมของแผ่นที่ตนเองต้องการควรอยู่ที่เท่าไร จึงกลายเป็นการซื้อที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้ ประกอบกับความอยากได้ชนิดห้ามใจไม่ได้ จึงได้แผ่นบางอัลบั้มในราคาที่สูงเกินจริง คนขายก็อมยิ้ม คนซื้อก็ภูมิใจ พูดง่ายๆ เป็นยุคที่คนฟังเพลงมีเงินครับ อยากได้ก็ซื้อเลย ไม่สำรวจตลาด ทีนี้พอมีพ่อค้าถูกหวย หลายคนก็ทำตาม กลายเป็นว่าราคาแผ่นไทยค่อยๆ ถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา จนบางครั้งพ่อค้าหาแผ่นเก่ามาขายไม่ทันความต้องการของคนฟังด้วยซ้ำ

unnamed

แผ่นออริจินัลแพง แผ่นรีจึงเป็นทางออกที่ดี

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีแผ่นไทยประเภทรี (รีโปรดักต์/รีอิชชู) ออกมาแยะมาก ส่วนใหญ่เป็นศิลปินดังในช่วงยุค80 ที่เพลงไทยรุ่งเรืองสุดๆ คนฟังแผ่นจึงมีโอกาสได้ซื้อแผ่นรีของคาราบาว มาลีฮวนนา ดิ โอฬาร โปรเจกต์ ฯลฯ ในราคาที่จับต้องได้ (แต่ก็ยังแพงอยู่ดี เมื่อเทียบกับคุณภาพเสียงที่สู้แผ่นออริจินัลไม่ได้) ประมาณ 1,800-2,200 บาท ขณะที่แผ่นออริจินัลราคา 5,000-10,000 บาทไปแล้ว ข้อดีก็คือ คนฟังรุ่นใหม่ซื้อฟังได้ ไม่ต้องขวนขวายจ่ายแพงกว่า 4-5 เท่า แต่ข้อเสียก็คือ คนฟังกลุ่มใหม่นี้จะไม่ทราบว่าสุ้มเสียงที่แท้จริงของแผ่นเสียงยุครุ่งเรืองเป็นอย่างไร แผ่นรีไม่อาจตอบสนองในส่วนนี้ได้เลย เคยเห็นหลายคนที่ซื้อแผ่นรีมาฟัง แล้วก็เลิกฟังในเวลาอันสั้น เพราะคิดว่าแผ่นเสียงต้องให้สุ้มเสียงที่ดีกว่านั้น ทั้งที่ความจริงมีตัวแปรหลายอย่าง ทั้งมาสเตอร์ที่นำมาผลิต โรงงานผลิต คนมิกซ์ คนรีมาสเตอร์ ฯลฯ เดี๋ยวนี้จึงแทบไม่มีแผ่นรีออกมาแล้ว เพราะไม่ประสบความสำเร็จนั่นเอง

แผ่นจากค่ายเล็กและแผ่นที่ศิลปินลงทุนทำเองแพงเป็นเรื่องปกติ

ศิลปินที่ลงทุนผลิตแผ่นขายเอง รวมทั้งค่ายเล็กๆ ที่นานๆ จะทำแผ่นเสียงสักชุด ล้วนเป็นผู้ที่น่าเห็นใจครับ พวกเขาไม่มีทุนหนา ไม่มีคอนเนกชั่นกับบริษัทรับปั๊มแผ่น ฯลฯ การทำแผ่นแต่ละครั้ง แต่ละอัลบั้มจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก อีกทั้งผลิตจำนวนน้อย ทางเลือกจึงแทบไม่มี เพราะแผ่นเสียงหรือเทป หากสั่งผลิตจำนวนน้อย ต้นทุนต่อแผ่นต่อม้วนก็แพงขึ้น สั่งผลิตมาก ต้นทุนก็ลดลง แต่ไม่มีทางที่ค่ายเล็กๆ หรือตัวศิลปินจะขายงานได้เป็นหลักพัน อย่างมากก็ 300 ดังนั้น เมื่อตัดสินใจผลิตแผ่นขายแล้ว ทั้งศิลปินและค่ายเล็กก็มีความเสี่ยงเป็นทุนแล้ว กำไรไม่มาก ทำเพราะใจรักและอยากสนับสนุนวงการ ด้วยเหตุนี้ หากเราเห็นแผ่นเสียงของศิลปินที่ลงทุนเองหรือค่ายเล็กทำ ราคาค่อนข้างแพง นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างน้อยคนที่ซื้อก็เป็นแฟนตัวกลั่น พร้อมที่จะสนับสนุนศิลปินอยู่แล้ว พวกเขาควรได้รับผลตอบแทนที่ดีและอยู่ในวงการได้นานๆ

ราคาที่เหมาะสมของแผ่นเสียง

หากเป็นแผ่นเพลงสากลนำเข้า มาตรฐานราคามีอยู่แล้ว ราวๆ 700-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแผ่นเดี่ยวหรือแผ่นคู่ น้ำหนักของแผ่น ตลอดจนเป็นแผ่นที่ผลิตจำกัดจำนวนหรือพิเศษตรงไหนบ้าง ซึ่งคนฟังเพลงสากลไม่ค่อยมีปัญหากับราคาระดับนี้

ส่วนแผ่นไทยขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ผลิตเป็นหลัก ไม่ว่าจะราคา 1,200 หรือ 2,400 บาทก็ตาม พวกเขาต้องคำนวณเผื่อไว้แล้วว่าหากขายไม่หมดหรือขายได้ไม่มาก ต้องไม่ขาดทุน อย่างน้อยต้องเสมอตัวหรือพอมีกำไรบ้าง แต่ในฐานะผู้ซื้อก็ต้องคำนึงด้วยว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม มันรวมค่าต้นทุนการผลิต ค่าลิขสิทธิ์เจ้าของผลงาน ภาษีและอื่นๆ ที่ต้องจ่ายตามกฎหมายทั้งสิ้น ถ้ารับราคาที่เขาตั้งมาได้ ก็มั่นใจได้ว่ารายได้ส่วนหนึ่งไปถึงมือเจ้าของเพลงแน่นอน อีกส่วนก็เป็นกำไรให้ผู้ผลิตได้ใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตงานอันดับต่อๆ ไปอีก และสุดท้าย อยู่ที่ตัวเราเองว่าอยากฟังแค่ไหน อยากได้มาสะสมเป็นสมบัติส่วนตัวหรือไม่ คุณค่าของแผ่นเสียงอยู่ตรงนั้น ราคาไม่ใช่ตัวตัดสินคุณค่าของเพลงในแผ่นเสียงครับ

บทความนี้เว็บไทยแกรโมโฟนไม่ได้เขียนเอง แต่เป็นของ sanook.com โดยผู้เขียนคุณ อนุสรณ์ สถิรรัตน์ ขอบคุณที่มาบทความ Sanook.com

แอดมินเว็บไทยแกรมโมโฟน Thaigramophone.com