วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

วิวัฒนาการเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียง โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

กว่าที่เราจะได้ฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียงสเตอริโอราคาแพง จากเครื่องเล่นซีดี จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือแม้แต่เครื่องเล่น MP 3 อย่างทุกวันนี้ ทราบไหมว่ามันใช้เวลาพัฒนานานและต้องใช้มันสมองขนาดไหนกว่าเราจะได้ฟังอย่างมีความสุขเช่นนี้

เครื่องเล่นถูกคิดค้นขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 1857 แล้วถูกพัฒนามาเรื่อยๆจนเป็นเครื่องเล่นแบบไขลานที่เรียกว่า แกรโมโฟน ในปี 1896 ที่ใช้เล่นกับแผ่นครั่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ซึ่งทั้งหนัก แข็งและแตกหักง่าย แต่มันก็เป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำให้ฟังเพลงได้ หลักการง่ายๆ ของแผ่นเสียง  และเครื่องเล่นก็คือ แผ่นเสียงมีร่องขนาดเล็กจิ๋วเป็นจำนวนมาก ในร่องเหล่านี้มีปุ่มขรุขระมากมายเพื่อให้เข็มจากเครื่องเล่นแผ่นวิ่งผ่าน เข็มเปรียบเสมือนตัวรับแรงสั่นสะเทือนเวลาวิ่งไปสัมผัสกับปุ่มในร่องจนเกิดเป็นคลื่นเสียงส่งผ่านลำโพงที่มีลักษณ์คล้ายปากแตรออกมา ซึ่งถ้าฟังในสมัยนี้ เสียงค่อนข้างทุ้มต่ำ ไร้มิติ เป็นแบบโมโนที่ฟังแล้วอุดอู้ แต่มันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของยุคนั้น อีกทั้งเล่นด้วยสปีด 78 RPM (รอบต่อนาที) ซึ่งเร็วมาก เวลาลานไขไว้ใกล้หมด เสียงเพลงก็จะค่อยๆ อืดลงเหมือนเทปยืด



เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็นต้นกำเนิดหรือบรรพบุรุษของเครื่องเล่นในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นในปี 1930 ปีเดียวกับที่แผ่นเสียงที่ผลิตด้วยพลาสติกไวนิลที่ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย น้ำหนักเบา และกระด้างน้อยกว่าแผ่นครั่งได้ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของแผ่นลองเพลย์ (จะเรียก LP หรือแผ่นอัลบัมก็ได้) เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เล่นด้วยสปีด 33 1/3 RPM โดยบริษัท RCA หลังจากปี1949 เป็นต้นมา แผ่นเสียงแบบ LP กลายเป็นตัวขายและทำเงินมากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรีจนเป็นธุรกิจระดับโลกในเวลาต่อมา

ปี 1957 เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นแบบกระเป๋าหิ้วหรือขนาดเล็ก รัศมีของจานวางแผ่นยังเป็น 10 นิ้ว แต่ก็เล่นแผ่น LP ที่มีรัศมี 12 นิ้วได้ ปี1960 เครื่องเสียงระบบสเตอริโอเริ่มได้รับความนิยม โดยที่แผ่นเสียงที่ผลิตในยุคนั้นระบุว่าสามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องเสียงโมโนและสเตอริโอ

ช่วงที่รุ่งเรืองของแผ่นเสียงและอุตสาหกรรมเครื่องเสียงก็คือยุค 1970s หลังจากเครื่องเสียงระบบสเตริโอแพร่หลาย ได้รับความนิยม ผู้ผลิตต่างคิดค้นนวัตกรรมใหม่ออกมาตลอดเวลา มีทั้งระบบเสียง 4 ทิศทาง ที่ให้สุ้มเสียงและมวลเสียงมากกว่าสเตริโอ อีกทั้งให้มิติในการฟังที่สมบูรณ์แบบกว่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องเพิ่มลำโพงอีก 1 คู่ในการฟัง รวมเป็น 4 ตัว ซึ่งปกติ สเตอริโอใช้เพียง 2 ตัวเท่านั้น การบันทึกเสียงแบบ DTD หรือ Direct to Disk ก็ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่ง ว่ากันว่าได้อรรถรสในการฟังอย่างมาก เนื่องจากนักดนตรีบันทึกเสียงการเล่นโดยต่อสายตรงเข้าเครื่องทำมาสเตอร์เทปสำหรับใช้ปั๊มแผ่นเสียงเลย เหมือนบันทึกเสียงสดๆ โดยไม่มีโอกาสแต่งเสียงหรือแก้ไขส่วนที่เล่นผิดพลาด แต่แล้วก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าที่คาดหวังกันไว้

นอกจากแผ่นเสียงแล้ว ยังมีเทปคาสเสตต์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในบ้านเราแพร่หลายและเป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูก หาซื้อง่าย ตลอดจนหาซื้อเครื่องเล่นเทปได้ง่ายและราคาถูกกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาก แต่ในต่างประเทศ ราคาแผ่นเสียงและเทปเท่ากัน จึงไม่แปลกที่แผ่นเสียงได้รับความนิยมมากกว่าเทป ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเราเลย ที่ขาดไม่ได้คือ เทป 8 แทร็ก ที่มีตลับทึบคล้ายตลับวิดีโอเทป แต่เล็กกว่า และใหญ่กว่าตลับเทปคาสเสตต์ทั่วไป ใช้เล่นกับเครื่องเล่นเทปในรถยนต์เป็นหลัก แต่ก็แพร่หลายได้ไม่นาน เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องเล่นในรถยนต์นั่นเอง

ย่างเข้ายุค 1980s ระบบดิจิตัลถูกพัฒนามาแทนระบบอนาล็อก ทำให้การบันทึกเสียงเพื่อผลิตแผ่นเสียงรวดเร็ว ก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพเสียงก็พัฒนาควบคู่ไปด้วย เมื่อซีดี หรือคอมแพ็กต์ ดิสก์ถูกพัฒนาขึ้น มันได้พลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีไปอย่างสิ้นเชิง แผ่นเสียงถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย เกะกะกินที่ หยิบมาเล่นลำบาก เก็บรักษายาก และอีกมากมายสุดที่จะหามาตำหนิเพื่อยกยอให้ซีดีดูเหนือชั้นกว่าในทุกๆกรณี ซึ่งมันก็จริง หากมองในปี 1982 ที่มันถือกำเนิดขึ้น แล้วปี  1983 เครื่องเล่นซีดีก็ถูกผลิตออกสู่ตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดซีดี มันให้สุ้มเสียงที่ครบถ้วน สมกับที่ทุกคนวาดหวัง ประหยัดพื้นที่เก็บ ใช้งานง่าย รักษาง่าย แต่ราคาแพงกว่าแผ่นเสียง ทว่าไม่มีใครบ่นมากนัก เพราะมันคือแฟชั่น คือการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ใครๆพากันตื่นเต้นกับระบบดิจิตัลที่จะมาแทนที่อนาล็อก

ดังนั้น นับแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ซีดีค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่แผ่นเสียงก็ไม่ได้ถูกซีดีฝังกลบเสียในทันที คนที่ยังภักดีต่อแผ่นเสียงยังมีอยู่ นั่นคือกลุ่มคนที่มีอายุหน่อย เป็นกลุ่มที่ยังตัดใจจากอนาล็อกไม่ได้ หรือกลุ่มหัวโบราณที่ไม่เชื่อในประสิทธิภาพของดิจิตัล กลางยุค 80s มีเครื่องเล่นใหม่ออกมา นั่นคือ Mini Disc Player ที่ใช้เล่นกับมินิ ดิสก์ ซึ่งย่อส่วนจากซีดีลงมาให้เล็กลงอีก แต่จุข้อมูลได้แน่นพอกันหรืออาจมากกว่า ซึ่งมินิ ดิกส์ระบุว่าสามารถจุเพลงรวมกันเป็นเวลาถึง 74 นาที ซึ่งซีดีในขณะนั้นได้ราวๆ 60 กว่านาที แต่ด้วยความที่เป็นของใหม่ และไม่ได้รับความนิยม มินิ ดิสก์เลยอยู่ได้ไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่มันทิ้งไว้ให้ทุกคนตระหนักก็คือ คุณภาพของมัน ไม่ว่าจะเป็นอัลบัมเพลง หรือเพลงที่อัดจากแผ่นเสียงลงดิสก์ที่ฟังแล้วเหมือนฟังจากแผ่นเสียงจริงๆ สำหรับวิดีโอเทป ตลอดจนเลเซอร์ ดิสก์ ขอข้ามไปนะครับ เพราะมันเกี่ยวกับภาพหรือวิชวลมากกว่าเสียง อีกทั้งเป็นอีกระบบหนึ่งที่แยกออกมาจากระบบเครื่องเสียงที่เราฟังเพลงกันอยู่

จุดตกต่ำของแผ่นเสียงเริ่มต้นราวๆปลายยุค 80s ที่ช่วงนั้นซีดีออกมาเต็มตลาด แชร์ส่วนแบ่งเกิน 90% ของตลาดซอฟต์แวร์เครื่องเสียงทั่วโลก ส่วนเทปคาสเสตต์ก็ยังมีอยู่ แต่ผลิตน้อยลงตามอัตราส่วนความต้องการของตลาดเช่นกัน ในที่สุด ซีดีก็ครองตลาดเบ็ดเสร็จเกือบ 100% ราวต้นยุค90s ซึ่งเป็นยุคที่คนฟังเพลงบ้านเราตระหนักว่ายุคของแผ่นเสียงหมดลงแล้ว แผ่นเสียงคือขยะ หลายคนจึงนำแผ่นเสียงที่เก็บสะสมไว้มาเทขายในราคาถูก หรือแจกจ่ายเพื่อนฝูงไป เนื่องด้วยสาเหตุที่แจงไว้ข้างต้น คือไม่มีที่เก็บ เก็บรักษายาก ฯลฯ แล้วพวกเขาก็หันมากระหน่ำซื้อและสะสมซีดีแทน แต่เชื่อหรือไม่ ในต่างประเทศ แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากตลาดและอุตสาหกรรมดนตรี ถึงซีดีจะเป็นตลาดหลัก แต่แผ่นตัวอย่าง หรือแผ่นแจกดีเจตามสถานีวิทยุยังคงเป็นแผ่นเสียงอยู่ อาจเป็นแผ่นตัดที่มีด้านละเพลง หรือเป็นเพลงซิงเกิลที่อีกด้านหนึ่งเป็นเพลงเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ เพราะในต่างประเทศยังเห็นความสำคัญของแผ่นเสียงและรู้ว่ามันใช้โปรโมตงานได้ผลแน่นอนกว่าซีดี ส่วนที่ผลิตออกขายก็มีจำนวนน้อยมาก บางศิลปินก็เพียงหลักร้อย ถ้าศิลปินชื่อดังหน่อยก็หลักพัน สูงสุดก็ไม่เกิน 3,000 แผ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แผ่นเสียงของศิลปินที่ออกในช่วงปี1992-1998 จึงมีจำนวนน้อยมาก และราคาแพงสุดกู่ ไม่ว่าจะเป็นงานของ Madonna, Red Hot Chili Peppers, U2, David Bowie, R.E.M. ตลอดจนศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟและกรันจ์ร็อคในช่วงนั้น

ปลายยุค 90s จนถึงปี 2009 เป็นช่วงที่แผ่นเสียงอยู่แบบเจียมเนื้อเจียมตัว บางศิลปินมีแผ่นเสียงก็จริง แต่ก็ผลิตน้อยเหมือนเดิม ขณะที่ซีดีเริ่มถูกรุกรานด้วยไฟล์ MP3 เพราะตัวซีดีเองมันดันสามารถนำไปแปลงไฟล์และบีบไฟล์ให้เล็กลงเพื่อฟังกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ราคาถูกและพกพาสะดวกนั่นเอง นับเป็นจุดถดถอยของซีดีและช่วงตีกลับเล็กๆ ของแผ่นเสียงไปด้วยในตัว ส่วนคนที่ฟังแผ่นเสียงอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะถ้าศิลปินที่เขาฟังแผ่นเสียงไม่ออกแผ่น ก็ยังมีซีดีให้หาซื้อมาฟังได้ แต่ถ้าออกแผ่นเสียง เขาย่อมเลือกแผ่นเสียงมากกว่าซีดีแน่นอน

ราวปี 2010 แผ่นเสียงกลับมาเจาะตลาดได้มากขึ้นจนหลายคนบอกว่าเป็นปีแห่งการคัมแบ๊กของแผ่นเสียงเลยก็ว่าได้ ในความเป็นจริงมันไม่ได้คัมแบ๊ก เพราะมันอยู่กับอุตสาหกรรมดนตรีมาตลอด เพียงแต่บางช่วงก็ถูกบดบังด้วยความทันสมัยและสะดวกสบายของซีดี แต่เมื่อเวลากว่า 20 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าซีดีไม่ได้ให้อะไรมากขึ้นกว่าที่มันมีในช่วงที่ถือกำเนิดขึ้น คนฟังเพลงส่วนหนึ่งจึงถวิลหาความขลังแบบเก่าๆจากแผ่นเสียง และอาชีพดีเจก็ทำให้ตลาดแผ่นเสียงยังคงอยู่และมีคนสนใจมากขึ้นทุกปี จนขยายตัวราวกับว่ายุคนี้กลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียงในช่วงทศวรรษที่ 70s อีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นคนฟังเพลงและเก็บแผ่นเสียง ผมไม่เคยคิดว่าแผ่นเสียงล้าสมัย ไร้คุณค่า น่าเบื่อ มีปัญหาในการจัดเก็บหรือทำความสะอาด เพราะมันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก ไม่เคยห่างมือเป็นเวลานานๆ ยังมีความสุขจากการฟังแผ่นเสียง หาซื้อแผ่นเสียง ค้นหาวงแปลกๆ ที่ไม่เคยฟัง ฯลฯ ทุกวันนี้เลยได้พบกับผู้คนหลายหลากที่คิดตรงข้ามกับผม เคยเทขายแผ่นเสียงทิ้งเพราะทุ่มเทให้กับซีดี แต่ตอนนี้ เขาต้องการมากว้านซื้อแผ่นเสียงที่ตัวเองเคยขายทิ้งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นี่คือหลักประกันอีกอย่างที่บอกพวกเราว่า แผ่นเสียงไม่เคยหายไปจากวงการ ไม่เคยล้าสมัยเลยครับ

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

ที่มา sanook.com

“แผ่นเสียงออริจินัล (Original)” กับ “แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)” เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

Add @Sanook.com

"แผ่นเสียงออริจินัล (Original)" กับ "แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)" เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

อนุสรณ์ สถิรรัตน์นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537 บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544 บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548 ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แผ่นเสียงแบบรีอิชชู (Re-Issue ต่อไปขออนุญาตเรียกย่อว่า แผ่นรี) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีนายทุนผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของคนฟังเพลงไม่ขนาดสาย กระแสคนเล่นแผ่นเสียงยังไม่มีเค้าว่าจะซาลงง่ายๆ ขณะที่คนฟังเทปคาสเซ็ตต์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่เทปไม่สามารถออกรีอิชชูได้อีกแล้ว เว้นแต่จะแอบทำแบบผิดกฎหมายเหมือนสมัยเทปผีในอดีต การฟังเพลงในอดีตในรูปแบบแผ่นเสียงจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงจากยุคอนาล็อก

สำรวจตลาดแผ่นเสียงรี

ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านเป็นช่วงน้ำขึ้นของตลาดแผ่นเสียงรีอย่างแท้จริง ช่วงที่ว่านี้มีคนหันมาฟังแผ่นเสียงมากขึ้น เรียกได้ว่ามีนักเล่นแผ่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่กว่าครึ่งของจำนวนที่ว่านี้ก็เลิกเล่นไปในระยะเวลาอันสั้น สืบเนื่องมาจากสู้ราคาไม่ไหว อีกทั้งเจอแผ่นรีที่คุณภาพเสียงไม่ดีอย่างที่ฟังจากเทปหรือซีดีในอดีต ตลาดแผ่นเสียงรีบ้านเราเปิดตัวแบบไม่มีทิศทาง หลายอย่างยังไม่พร้อม ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังทำออกมาขาย ผลก็เลยผิดคาดและผิดหวังอย่างมากครับ ทำให้คนเพิ่งเล่นเข็ดขยาด ไม่อยากเล่นต่อ ส่วนคนที่เล่นอยู่ก่อนแล้ว ก็ไตร่ตรองมากขึ้น เลือกสรรละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะแผ่นรีไทยไม่ได้ดีทุกแผ่น มาตรฐานไม่เท่ากันทั้งหมด และไม่มีราคามาตรฐานอีกด้วย ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นกับนายทุนที่ผลิตออกมาขายเป็นสำคัญ ส่วนแผ่นของศิลปินปัจจุบันก็ผลิตออกมาตามความต้องการของผู้ฟัง ใช้วิธีพรีออร์เดอร์ก่อน แล้วค่อยผลิตตามจำนวนออร์เดอร์ ราคาจัดว่ายังสูงอยู่ แต่ไม่เป็นปัญหากับแฟนตัวจริงของแต่ละศิลปินมากนัก

re-issuebonjovi

ในแง่ของคนฟังเพลงระดับเข้าสายเลือดส่วนใหญ่รู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้กับแผ่นรีของไทย ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ยังดีไม่พอครับ เพราะหามาสเตอร์ที่ดีพอไม่ได้ อีกทั้งทำเพื่อตอบสนองคนฟังเพลงไทยกลุ่มเดียวที่ไม่อยากเสียเงินหลักหมื่นซื้อแผ่นออริจินัลนั่นเอง ประการหลังนี่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการออกแผ่นรี คือช่วยให้คนรุ่นหลังได้ฟังแผ่นมีค่าในอดีตด้วยราคาที่เอื้อมถึง แต่กระนั้นราคาที่ขายในขณะนั้นก็อยู่ที่พันบาทปลายๆถึงสองพันบาทต้นๆ ซึ่งถือว่าสูงเอาการ กับคุณภาพของสุ้มเสียงและการผลิตที่มาตรฐานยังไม่แน่นอน เราจึงเห็นแผ่นรีศิลปินไทยที่ออกมาในยุคแรกๆในราคาลดลงมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากออกขายไปเพียง 1-2 ปี คนที่ซื้อไปฟังแล้วก็นำมาขายต่อในราคาหลักแค่ไม่ถึงพัน ทุกวันนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นแผ่นรีของงานดังๆในอดีตมากนัก เห็นแต่งานใหม่ของศิลปินยุคปัจจุบันที่ออกงานมาหลายฟอร์แมตที่รวมฟอร์แมตแผ่นเสียงไปด้วย แต่นั่นก็เป็นแค่การฟังงานที่มาสเตอร์จากดิจิตอลด้วยระบบอนาล็อกเท่านั้นเอง คุณภาพเสียงดีจริงๆ แต่ฟังซีดีก็ตอบสนองได้เพียงพอแล้วครับ

ว่ากันที่สาเหตุที่ทำให้แผ่นรีรุ่นแรกๆของศิลปินไทยไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายประการ อย่างแรกก็คือ หามาสเตอร์ตัวจริงที่เป็นเทปรีลแบบอนาล็อกไม่ได้ อันนี้จำเป็นมาก เพราะสุ้มเสียงจากเทปมาสเตอร์นี้ผ่านการมิกซ์และตรวจสอบจากเอนจิเนียร์และโปรดิวเซอร์มาเป็นอย่างดี แต่เมื่อหามาสเตอร์ไม่ได้ การนำซีดีหรือแผ่นเสียงออริจินัลมาทำมาสเตอร์ โดยแปลงไฟล์เป็นดิจิตอลมันทำให้สุ้มเสียงไม่เหมือนเดิม ไหนจะต้องทำเป็นไฟล์ดิจิตอลเพราะตกแต่งเสียงและลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ออก เท่าที่ฟังมาหลายชุด เสียงออกมาดีสุดมีคุณภาพเช่นเดียวกับฟังซีดี แต่ขาดมิติ ไม่มีตื้นลึกหนาบางเหมือนอนาล็อก ซึ่งคงตำหนิไม่ได้เพราะมาสเตอร์ทำได้เท่านั้น อีกทั้งรีออกมาขายในราคาที่ถูกกว่าออริจินัลหลายเท่า คุณภาพเกือบเทียบเท่าหรือด้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น อย่าลืมนะครับ ห้องอัดเสียงหรือสตูดิโอในบ้านเราได้มาตรฐานก็จริง แต่บางครั้ง เอนจิเนียร์ นักดนตรี โปรดิวเซอร์ก็ทำงานไม่ได้อย่างที่ต้องการ เว้นเสียงแต่เดินทางไปบันทึกเสียงยังต่างประเทศที่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยกว่า

original
re-issuegunsnroses

แผ่นออริจินัลยังน่าเล่นอยู่

ไม่ว่าศิลปินไทยหรือต่างประเทศ แผ่นออริจินัล (ขอย่อว่าแผ่นออริ) ยังเป็นตัวเลือกอันดับแรกของคนฟังเพลงอยู่ เพราะเป็นแผ่นที่ผลิตในยุคอนาล็อก สุ้มเสียงเป็นธรรมชาติ มีมิติ ต่อให้มีริ้วรอยที่ผิวแผ่นจนทำให้เกิดเสียงรบกวนอยู่บ้าง แต่คนเล่นก็ไม่รังเกียจ อย่างน้อยก็ให้ความรู้สึกถึงอารมณ์เดิมๆที่คุ้นเคยจากที่เคยฟังจากเทปและซีดีในอดีตมาก่อน แผ่นออริจะฟังดีแค่ไหน ขึ้นกับสภาพของแผ่นครับ ถ้าแผ่นสวย ไม่มีรอยน่าเกลียด อย่างไรก็ฟังดี ให้สุ้มเสียงตามที่คาดหวังครับ แต่ถ้ารอยมาก เสียงรบกวนมาก หรือยับเยินเกินกว่าจะรับได้ แผ่นรีจึงเป็นทางออก ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง กรณีของแผ่นไทย อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก อย่างที่กล่าวถึงสาเหตุจากมาสเตอร์ในช่วงต้น แต่แผ่นศิลปินต่างประเทศ มีผลอย่างเห็นได้ชัด แผ่นรีแทบไม่ต่างจากแผ่นออริ บางแผ่นอาจให้สุ้มเสียงที่ดีกว่าด้วย เพราะเขาเก็บมาสเตอร์เทปไว้อย่างดี นอกจากนี้อาจรื้อมาสเตอร์มารีมาสเตอร์เทปต้นฉบับอีกด้วย ซึ่งเขาเน้นที่คุณภาพ ออกแผ่นรีทั้งที อย่างน้อยคุณภาพเสียงต้องเท่าเทียมแผ่นออริ หรือถ้าเสียงดีกว่าออริจะยิ่งยอดเยี่ยมขึ้นไปอีก แผ่นรีของศิลปินต่างประเทศจึงเชื่อถือได้ และที่สำคัญ ราคาไม่แพงครับ ตามร้านขายแผ่นเสียงซีดีในกรุงเทพฯอยู่ราวๆ 800-1500 บาท

ข้อดีของแผ่นรี

กล่าวได้ว่ามีน้อยมาก แต่ข้อดีเหล่านี้ล้วนเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นออริมาแล้วทั้งสิ้น ผู้ผลิตจึงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นกับแผ่นรีครับ เช่น ความหนาของแผ่นรีเพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำหนักที่เพิ่มเป็นมาตรฐาน 180 แกรม จึงไม่เกิดปัญหาแผ่นงอหรือโก่ง เวลาเก็บวางไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็นแผ่นสีต่างๆ แผ่นลายหินอ่อน (Marbled Vinyl) แผ่นสีผสมแตกกระจาย (Splatted Vinyl) และแผ่นใส (Clear Vinyl) ดังนั้น แผ่นรีส่วนหนึ่งจึงเหมาะในการเก็บสะสมหรือประดับมากกว่าฟังด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ซื้อครับ

marbledvinyl
splattedvinyl
clearedvinyl

อนาคตแผ่นเสียงในไทย

ไม่มีอะไรน่าวิตกครับ ตราบใดที่คนฟังแผ่นเสียงยังไม่หันไปฟังสตรีมมิงแทน รบกวนทำความเข้าใจสักนิดครับ คนฟังแผ่นเสียง ซีดี เทป ส่วนใหญ่ก็ฟังสตรีมมิงด้วย เพราะใช้ในการฟังเป็นไกด์ไลน์ก่อนซื้อแผ่น หรืออาจฟังขณะที่ออกไปทำธุระนอกบ้าน ไม่ต้องมีฮาร์ดแวร์ แค่มือถือเครื่องเดียวก็ฟังได้ แต่ในทางกลับกัน คนที่ฟังสตรีมมิงเป็นหลัก คงไม่สามารถเบนเข็มมาฟังแผ่นเสียงได้ อาจมีฟังซีดีหรือเทปบ้าง แต่การจะข้ามมาฟังแผ่นเสียงนั้น ต้องลงทุนอีกมาก ซิสเต็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็หลักหลายหมื่น ไหนจะต้องซื้อแผ่นเสียงฟังอีก รายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวครับ

ด้วยเหตุนี้ แผ่นเสียงยังมีคนฟังอยู่ต่อไป แต่แผ่นรีจะอยู่ลำบากขึ้น แผ่นออกใหม่ของศิลปินไทยก็ต้องดูเป็นกรณีไป ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อนาคตเราอาจจะได้เห็นนายทุนหน้าใหม่ หรือบริษัทที่อยากโดดมาทำธุรกิจแผ่นเสียงศิลปินไทยกับเขาบ้างก็ได้ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาในช่วงสิบปีมานี้ นายทุนหน้าใหม่คงต้องลงทุนมากขึ้น หามาสเตอร์ตัวจริงของศิลปินในอดีตให้ได้ ซึ่งศิลปินหลายรายในอดีตก็เป็นเจ้าของสิทธิ์เพลงของตนเอง และเก็บมาสเตอร์ผลงานของตนเองไว้อย่างดี รอแต่ว่าใครจะติดต่อของานไปออกแผ่นเสียงและมีผลตอบแทนที่ไม่เอาเปรียบจนเกินไปนั่นเอง เอาที่ใกล้ตัวกว่านั้น นายทุนใหม่อาจเป็นคนที่เคยผิดหวังกับแผ่นรีไทยในอดีต รู้ซึ้งถึงข้อบกพร่องของแผ่นรีที่ผลิตออกมาในช่วงนั้น เมื่อผันตัวเองมาเป็นนายทุน ย่อมไม่ต้องการให้มีข้อบกพร่องเหล่านั้นอีก เรียกว่าแผ่นรีในอนาคตคุณภาพเสียงต้องดีขึ้น คุณภาพเชื่อถือได้ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ราคาเป็นมิตรกับคนฟังครับ มารอลุ้นกันครับ

ทีนี้ คุณจะเลือกเล่นแผ่นออริหรือแผ่นรีก็ต้องตัดสินใจกันแล้วละครับ แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือเลือกเล่นทั้งสองอย่างตามสภาพคล่องของกระเป๋าตังค์ครับ เพราะผมก็ทำแบบนี้ด้วย

ที่มา sanook.com

ครั้งแรกใน 2 ทศวรรษ! ยอดขายแผ่นเสียงแซงหน้าแผ่นซีดีในสหรัฐฯ เหตุกระแสหวนอดีตแรงเกินคาด

ตอนนี้กระแสโหยหาอดีตมาแรงอย่างคาดไม่ถึง ทำให้อุตสาหกรรมเพลงในสหรัฐอเมริกาเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง นั่นคือยอดขายแผ่นเสียง (Vinyl) ในปี 2563 มีมากกว่าแผ่นซีดี (CD) แล้ว ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ

เรื่องในอดีตกลายเป็นที่สนใจ

Recording Industry Association of America เปิดเผยผลสำรวจอุตสาหกรรมเพลงในสหรัฐอเมริกาช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ว่า ยอดขายแผ่นเสียงคิดเป็นมูลค่า 232.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนแผ่นซีดีคิดเป็นมูลค่า 129.9 ล้านดอลลาร์ ลดลง 48%

ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เพราะช่วงเวลานั้นเทปคาสเซ็ท และแผ่นซีดี เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมเพลงมากขึ้น และทำให้แผ่นเสียงแทบไม่มีที่ยืนในตลาดนี้ จนกระทั่งปี 2543 แผ่นเสียงเริ่มกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะกระแสหวนหาอดีต จนกระทั่งครึ่งแรกของปี 2563 แซงหน้ายอดขายแผ่นซีดีได้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จับต้องได้ในอุตสาหกรรมเพลง เช่นแผ่นเสียง, แผ่นซีดี หรือเทปคาสเซ็ท ยังหดตัว 23% ในครึ่งแรกของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 376 ล้านดอลลาร์ ที่สำคัญอุตสาหกรรมเพลงยังถูกครอบครองตลาดโดยบริการฟังเพลงออนไลน์ หรือ Streaming เช่นเดิม ผ่านการกินส่วนแบ่งกว่า 85% หรือ 4,800 ล้านดอลลาร์

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมดนตรีในสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้น 5.6% คิดเป็นมูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปี 2563 ส่วนในตลาดโลก บริการฟังเพลงออนไลน์ยังกินส่วนแบ่งของตลาดนี้จำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากความสะดวกในการรับฟัง และผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกมากขึ้น

สรุป

การฟังเพลงยังเป็นความบันเทิงที่ผู้บริโภคชื่นชอบ และยินดีจ่ายหากแพลตฟอร์มการฟังเพลงเหล่านั้นให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่น่าสนใจคือตลาดหวนคืนอดีต เพราะแผ่นเสียง รวมถึงเทปคาสเซ็ทมีการเติบโตขึ้นจริงๆ และยังไม่มีใครรู้ว่ากระแสนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร

อ้างอิง // CNN

ที่มา BrandInside.asia

กระแส “เทปคาสเซ็ตต์” รอบโลกในช่วงปี 2020 ผ่านมา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

กระแส “เทปคาสเซ็ตต์” รอบโลกในช่วงปี 2020 ผ่านมา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

อนุสรณ์ สถิรรัตน์นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537 บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544 บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548 ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

ยอดขายเทปในอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020

จากรายงานขององค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งบันทีกเสียงอังกฤษ หรือ BPI ได้สรุปยอดขายของเทปคาสเสตต์ในปี 2020 ที่ผ่านมาเฉพาะในอังกฤษ ปรากฏว่ามียอดขายเพิ่มเป็น 2 เท่าจากที่เคยขายได้

ปี 2020 อังกฤษเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ประชาชนไม่ออกมาเดินเที่ยวเหมือนอย่างเคย เช่นเดียวกับคนฟังเพลงที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน และส่วนใหญ่ก็เวิร์ก ฟรอม โฮม (WFH) ยังส่งผลให้การบริการสตรีมมิงดนตรีทำสถิติยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของทุกแพลตฟอร์ม หนำซ้ำยอดรวมสตรีมมิงในประเทศยังเพิ่มมากกว่าปีก่อนถึง 251 ล้านครั้งด้วยกัน

Geoff Taylor ผู้บริหารสูงสุดของ BPI กล่าวว่า “บทบาทของดนตรีที่บันทึกเสียงและผลิตกันในปี2020 นั้นเริ่มตาสว่างกันแล้ว ขณะที่การใช้ชีวิตของพวกเรากำลังสับสน แต่ดนตรีที่ผลิตออกมาทำให้เรารู้สึกได้ว่ามันยังคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราอยู่”

ส่วนยอดขายอัลบัมที่เพิ่มขึ้นนั้น ระบุว่าซีดีไปได้ตามปกติ แต่แผ่นเสียงและเทปกลับมียอดพุ่งทะยานขึ้นจากปีก่อนถึง 2 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดขายของแผ่นเสียงยังคงขายดีเหมือนหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่เทปนี่ทำให้เซอร์ไพรส์กันมาก เพราะมันทำยอดขายแบบก้าวกระโดดนั่นเอง แซงหน้าฟอร์แมตอื่นๆ นั่นเอง

ตลอดเวลา 12 เดือน ของปี 2020 เทปขายไปได้กว่า 150,000 ตลับ ซึ่งรวมผลงานของป๊ฮปสตาร์อังกฤษอย่าง Dua Lipa, Kylie Minogue, The Streets โดยที่สามศิลปินนี้ครองอันดับขายติดยอดท็อป 3 ไปแบบไร้คู่แข่ง

ย้อนมาดูบ้านเรา ตลาดเทปที่ไปได้ดีกลับเป็นเทปมือสองของศิลปินดังในอดีต ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือสากล หากเป็นที่ผลิตในยุค ’80s-’90s มักเป็นที่ปรารถนาของนักสะสมนักเล่นเป็นพิเศษ ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับความต้องการครับ ส่วนหนึ่งอยู่ในระดับที่รับได้ ยิ่งตามเพจและกรุ๊ปต่างๆ ในเฟซบุ๊กจัดให้มีระบบประมูลกันมากขึ้น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักสะสมจะได้ตัดสินใจว่าเอาหรือไม่

“ไอ้นั่น” ที่วัยรุ่นคลั่งกันมากในยุค ‘80s น่ะ ตอนนี้เท่าไหร่แล้ว?

อย่าเพิ่งตกใจครับ “ไอ้นั่น” ที่ว่าก็คือคำแทนสิ่งต่างๆ หรือไอเทมทั้งหลายแหล่ที่ออกมาในยุค ‘80s จนฮิตติดตลาดจนเป็นกระสายอย่างแพร่หลาย แทบทั้งหมดเริ่มต้นที่ญี่ปุ่น แล้วแพร่หลายมายังบ้านเรา เรียกว่าเราตามเขาติดชนิดก้าวต่อก้าวเลย ยกตัวอย่าง เช่น แฟมิคอม ไงครับ เหมาเรียกรวมทั้งตัวเครื่องเล่นและตลับเกม คนที่เคยเป็นเด็กหรือวัยรุ่นในยุค ‘80s รู้ซึ้งดีว่าแฟมิคอมคืออะไร ดูดเงินและเวลาส่วนตัวไปขนาดไหน เกมใหม่ออก พอเลิกเรียนต้องดิ่งไปสะพานเหล็ก จ่ายเงินสดๆ 2,000 บาทเพื่อให้ได้เกมโปรดมาเล่นก่อนใคร คิดดูนะครับ 30 กว่าปีก่อน เกมตลับละ 2,000 บาทนี่เรื่องใหญ่เลย ไหนพอได้ตลับแล้ว ต้องรีบกลับบ้านไป “นวด” เกมแบบไม่ได้หลับได้นอนอีก เกมแอ๊กชันอาจไม่เสียเวลามาก แต่เกม RPG นี่ อาจกินเวลา 2 วัน ถึง 1 สัปดาห์กันเลย ทุกวันนี้แฟมิคอมเป็นของหายากแล้ว ในตลาดประมูลของญี่ปุ่น ราคาไปไกลจนเกินเอื้อมนานแล้วครับ กลายเป็นว่าคนที่ซื้อได้ก็คือคนที่เคยเป็นเด็กในวันนั้น วันนี้เป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวแล้ว มีงานการทำมั่นคง การใช้เงินหลักหมื่นเพื่อคว้าสิ่งที่รักในวัยเด็กกลับมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

นอกจากนี้ก็มีกล้องถ่ายรูปที่เป็นซากแล้ว แต่นักเล่นกล้องหามาเพื่อเป็นอะไหล่ หรือเอาชิ้นส่วนบางชิ้น ส่วนฟิล์มเก่า แม้หมดอายุไปแล้ว แต่ถ้ายังอยู่ในกล่อง ไม่เคยถูกเปิด ราคาก็ไม่ถูกเหมือนกันครับ พวกของเล่นหรือของจุกจิบที่ออกในยุคนั้นกลายเป็นแรร์ไอเทมไปหมด อาทิ กล่องดินสอ รูปลอก ยางลบ ดินสอ ขอให้มีตัวละครในการ์ตูนหรือหนังที่ชอบอยู่ด้วยแค่นั้นก็เพียงพอแล้วครับ

ทีนี้มาว่ากันถึงเทปและเครื่องเล่นกันบ้าง

เริ่มจากเทปที่เป็นเทปเปล่าสำหรับอัดเสียงที่ออกในยุคนั้น ราคาไม่เกิน 100 บาท ถูกหน่อยก็ 35 บาท แต่หากมีผู้ซื้อไว้ แล้วไม่แกะใช้งาน อยู่มาจนวันนี้ ราคามันถีบตัวไปไกลถึงตลับละ 900 บาทแล้ว (อ้างอิงจากเว็บประมูลของญี่ปุ่น Yahoo Auction) 

เคยเขียนถึงเทปและเครื่องเล่นมาแล้ว ขอเท้าความคร่าวๆ นะครับ เทปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกเสียงที่มีขายตั้งแต่ผมยังเรียนมัธยมราวเกือบ 50 ปีก่อน ราคาถูก หาซื้อง่าย เมื่อมีพ่อค้าหัวใสตามร้านขายแผ่นเสียงนำเทปเปล่ามารับจ้างอัดเพลงขาย แล้วแตกแขนงไปจนถึงเทปผี ตลาดเทปในบ้านเราก็เลยรุ่งเรืองจนมีเทปผีดังหลายยี่ห้อตั้งแต่ Original Sound, 4 Track, Peacock, Eagle มาจนถึงยุคเทปลิขสิทธิ์เต็มตัวราวปลายยุค ‘80s มาวันนี้ เทปที่เคยออกมาในช่วง 20-30 ปีก่อน (ส่วนที่ออกก่อนหน้านั้นไม่น่าจะมีคุณภาพเสียงดีพอจะเปิดฟังได้แล้ว) จึงเป็นของสะสมไปแล้ว แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าเทปผีบางรุ่นบางยี่ห้อ เวลาผ่านไปกว่า 30 ปีแล้วยังเสียงดีอยู่ ขณะที่เทปลิขสิทธิ์บางชุดบางยี่ห้อ แค่ 20 ปีก็หมดสภาพแล้ว แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อยครับ หากคุณเก็บรักษาดี ทะนุถนอมสม่ำเสมอ อีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ยังคงฟังได้อยู่

ส่วนเครื่องเล่นก็ไม่ต่างจากเทปครับ ของวินเทจยังเป็นที่ใฝ่หาของนักสะสมกันอยู่ พวกที่เก่าสภาพดีจริงๆ ราคาก็ไปไกลครับ ถ้าเน้นถูกก็อาจต้องมาซ่อมเองในบางส่วน แต่ที่เห็นเพิ่งออกมาขายเป็นเครื่องแบบ 4 in 1 เหมารวมทุกอย่างในเครื่องเดียว บริษัท Dreams Come True เป็นผู้ผลิต หลายปีก่อน ผมเคยคิดว่าสักวันต้องมีคนทำเครื่องแบบนี้ออกมาขายแน่ เพราะชีวิตประจำวันของคนทุกวันนี้ เน้นเร็ว สะดวก เป็นหลัก เครื่องนี้ประกอบด้วย ที่เล่นแผ่นเสียง, เล่นเทป, ซีดี, ช่อง USB, SD และวิทยุ อีกทั้งบันทึกเสียงได้ด้วย เรียกว่าจัดเต็มให้นักฟังเพลงยุคนี้กันเลยครับ

ดูจากภาพประกอบ เห็นลำโพงอยู่ด้านข้างของเครื่อง ซึ่งเนื้อข่าวระบุว่าเสียงดีใช้ได้ทีเดียว แต่อย่าเพิ่งเชื่ออะไรจนกว่าจะได้ฟังเองกับหูนะครับ เพราะอะไรก็ตามที่เอาหลายๆ อย่างมาอัดรวมอยู่ในเครื่องเดียว มันย่อมแย่งทรัพยากรพลังงานกันเอง ไม่เหมือนเครื่องเล่นที่เป็นซิสเตมแยกชิ้น มีตัวจ่ายไฟเป็นสัดส่วน ส่วนสนนราคาก็ 24,624 เยน (ประมาณ 7,500 บาท) อ้างอิงจาก Amezon.co.jp ครับ มาถึงยุคนี้แล้ว คงเป็นยุคที่เราต้องพึ่งพาเครื่องแบบ 4 in 1 แบบนี้กันแล้วกระมังครับ

ที่มา sanook.com

“สะสม” อะไรดี เพื่อทำ “รายได้” ในอนาคต โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

ช่วงที่ล็อกดาวน์ตอนโควิด-19 ระบาดตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้รับข้อความจากเพื่อนๆ มีหลายคนประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้ต้องนำสิ่งสะสมหรือของรักมาขายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ไปพลางๆจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาพปกติ เลยถือโอกาสชี้ทางอ้อมๆ เผื่อจะนำไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเผื่อทำเป็นงานหลักในอนาคตก็ได้ครับ

อันที่จริง ตลาดซื้อขายออนไลน์เกี่ยวกับเพลงอย่างไม่เป็นทางการมีมานานแล้วครับ ก่อนจะมีเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ แต่มาเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อคนฟังเพลงเอาในช่วงที่เฟซบุ๊กถือกำเนิดขึ้น ชุมชนขยายตัว คนซื้อคนขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ตรงตามหลักอุปสงค์อุปทาน ชุมชนนี้จึงขยายตัวตลอดเวลา จากซื้อขาย ก็เพิ่มแลกเปลี่ยนเพิ่มเข้ามาอีก ดังจะเห็นหลายกลุ่มในเฟซบุ๊กตั้งชื่อด้วย “ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน” เป็นคีย์เวิร์ด ปัจจุบัน มีเฟซบุ๊กเกี่ยวกับซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนเทป ซีดี แผ่นเสียง ดีวีดี นิตยสารดนตรี ไปจนถึงของที่ระลึกเกี่ยวกับดนตรีเต็มไปหมด ผมก็เป็นสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้หลายสิบกลุ่ม ได้ซื้อขาย และศึกษากลยุทธ์ต่างๆของคนขายแต่ละคน และที่สำคัญที่สุด ศึกษาความเคลื่อนไหวว่าตลาดต้องการอะไรบ้าง การตั้งราคาอาศัยจากมูลฐานอะไร

3 ไอเท็มชี้อนาคต

มาถึงกลางปี2020 นี้ หลายอย่างเริ่มส่อเค้ารางแล้วว่ามันมีส่วนกำหนดความเป็นไปในตลาดคนฟังเพลงได้ค่อนข้างแน่นอนและยืนยาว สำหรับคนที่ฟังเพลง สะสมไอเท็ม และชอบเล่นแร่แปรธาตุไม่ควรมองข้าม 3 ไอเท็มที่จะกล่าวในย่อหน้าต่อไปนะครับ

  1. ซีดี

ยังคงครองตำแหน่งแชมป์อย่างเหนียวแน่น ด้วยความสะดวกในการจัดเก็บ หาซื้อง่าย ขายคล่อง ราคาไม่ผันผวนมากจนเกินคาด ซีดียังเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ เป็นไอเท็มที่คุณซื้อมาฟังแล้ว ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ก็ขายออกได้ไม่ยาก และไม่ขาดทุนมากนัก ยิ่งคนที่ฟังเพลงฉาบฉวย ให้ความสำคัญกับสตรีมมิงเป็นหลัก ยิ่งมีโอกาสปล่อยซีดีในสะสมไว้ง่ายมาก เรียกว่ารอช้อนซีดีราคาถูก สภาพสะสมจากคนขายกลุ่มนี้ได้เลย

จะเห็นว่าเฟซขายซีดีหลายกลุ่มค่อนข้างคึกคัก มีคนขายมากหน้าหลายตาที่ส่วนใหญ่เครดิตดีและรับผิดชอบจนมีลูกค้าประจำกลุ่มใหญ่ติดตาม ขณะเดียวกัน คนซื้อก็มีหน้าใหม่หมุนเวียนไปช็อปกันตลอดเวลา หลายกลุ่มจึงมีสมาชิกจำนวนหลักหมื่นคนขึ้นไป คนซื้อและคนขายมีตัวยืนหลักที่คุ้นเคยกันดี กรณีฉ้อโกงหรือทำผิดกฎของกลุ่มแทบไม่ปรากฏให้เห็น

อีกกลุ่มนอกเหนือจากซื้อขายก็คือ กลุ่มประมูล ซึ่งคนซื้อ คนขายเป็นนักสะสมเป็นหลัก เพราะคนขายทราบว่าสินค้าของตนเองมีคุณค่ากับนักสะสม จะตั้งราคาขายเลยอาจพลาดได้ (หลายคนมีประสบการณ์ตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาตลาด เพราะมือใหม่หรือไม่สืบราคาตลาดก่อน ทำให้คนซื้อได้ของดีราคาถูกไปก็มาก) การประมูลจึงเป็นทางออกที่ดี แต่คนขายต้องทำใจไว้ก่อนว่า บางแผ่นอาจปิดในราคาที่ไม่สูงเท่าที่คาดฝัน แต่บางแผ่นก็ได้ราคาสูงเกินคาด กลุ่มประมูลจึงค่อนข้างซีเรียสแทบทุกอย่าง ทั้งสภาพแผ่น ไปจนถึงสภาพปกหรือแม้แต่สติกเกอร์แปะหน้ากล่อง จึงไม่แปลกที่เราอาจจะได้เห็นซีดีประมูลที่จบในราคาเกือบพันบาทหลายแผ่น เพราะบ้านเรายังมีนักสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นของศิลปินดัง ศิลปินที่คนฟังตามหาอยู่ ยิ่งราคาสูงจนน่าตกใจ

ข้อดีของซีดี

  • เก็บรักษาง่าย ใช้พื้นที่เก็บไม่มาก
  • ราคาเฉลี่ยไม่แพง หาซื้อง่าย ขายออกง่าย
  • ไรต์ลงแผ่นหรือลงคอมพิวเตอร์ได้ โดยคุณภาพเสียงใกล้เคียงต้นฉบับ

ข้อเสียของซีดี

  • ก๊อปปีง่าย ทำให้แผ่นปลอมแพร่หลาย ราคาถูกมาก อายุสั้น
  • แผ่นหมุนเวียนในตลาดมาก ทำให้บางแผ่นมีเกลื่อนจนแทบไม่มีราคา
  • แผ่นสะสมและ Box Set ค่อนข้างหายากและราคาสูง
  1. แผ่นเสียง

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่แผ่นเสียงในบ้านเราเพิ่งเป็นกระแสความนิยม (หรือตามแฟชั่น) ในช่วงสิบกว่าปีมานี้เอง หลังจากที่ซีดีครองตลาดช่วงต้นยุค90s ราวพ.ศ. 2534-2540 อันเป็นช่วงที่เทปเริ่มผลิตน้อยลง คนเล่นแผ่นเสียงแทบจะเลิกเล่น เหตุนี้ ปรากฏการณ์เปิดท้ายรถขายของจึงกลายเป็นกระแสในช่วงนั้น นักฟังเพลงและเล่นแผ่นเสียงหลายคนคิดว่าชีวิตนี้ซีดีคือสิ่งเดียวที่พึ่งได้ยังขนเอาแผ่นเสียงที่ตนเองสะสมมาวางขายท้ายรถกันนับไม่ถ้วน ขายถูกตั้งแต่แผ่นละ 20-100 บาท คนที่ผ่านช่วงนั้นมาคงทราบดีว่า แผ่นเสียงสภาพดีๆของศิลปินดังๆในอดีตมักได้จากเปิดท้ายในราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่อ

มายุคนี้ ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนแล้ว แค่ท่องเฟซบุ๊กไปตามกลุ่มขายแผ่นเสียงต่างๆก็ได้ไอเท็มที่ต้องการแล้ว มีทั้งมือสองสภาพพอใช้ไปจนถึงสภาพสะสม ตลอดจนแผ่นใหม่ที่เมืองนอกเพิ่งออก และแผ่นเพื่อนักสะสมโดยเฉพาะ แต่ก่อนช็อปควรเช็กราคาให้ถี่ถ้วนครับ บางแผ่นบางอัลบัมราคาก็แตกต่างกันมาก เดี๋ยวคนขายส่วนใหญ่สั่งแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นเข้ามาขายมากขึ้น เพราะมีนายหน้าและพ่อค้ารับจ้างสั่ง ราคาไม่แพงมาก แต่มักจะซื้อเหมาลังมา ซึ่งนั่นเท่ากับว่าพวกเขาช่วยคนญี่ปุ่นเอาขยะเข้ามาบ้านเรา แผ่นจากญี่ปุ่นที่ขายดีและนักสะสมต้องการราคาไม่ใช่ถูกๆ แต่นั่นก็เป็นราคาที่นักสะสมบ้านเราไม่เกี่ยงเหมือนกัน ปัญหาอีกอย่างก็คือ คนขายส่วนหนึ่งยังให้เกรดแผ่นเสียงไม่ตรงกับสภาพที่แท้จริง ทำให้เราได้แผ่นในสภาพที่แย่กว่าที่คิดหลายครั้ง สภาพตอนนี้คนขายแต่ละคนที่ยังใหม่ต่อวงการก็ต่างคนต่างขาย ยังไม่มีมาตรฐานในการเกรดแผ่น ที่พึ่งพาได้จึงเป็นนักขายอาชีพที่มีเครดิตมานานแล้วนั่นเอง Advertisement

ข้อดีของแผ่นเสียง

  • เสียหายยาก (แต่ต้องเก็บรักษาให้ดี) อายุยืนกว่าคนเล่นเสียอีก
  • คุณภาพเสียงแบบอนาล็อกดีเยี่ยม สุ้มเสียงเป็นธรรมชาติ
  • อาร์ตเวิร์กใหญ่ มีรายละเอียดครบครัน (อาทิ เนื้อเพลง ภาพประกอบ แต่บางชุดก็ไม่มีให้แต่แรก) สวยงาม น่าเก็บ
  • ถ่ายลงเทปได้ นักสะสมส่วนใหญ่ในยุค70s-80s นิยมอัดลงเทป แล้วเปิดเทปฟัง ส่วนแผ่นเสียงเก็บเข้าตู้
  • ราคาไม่สูงมาก เพราะในยุคที่แผ่นเสียงครองตลาด ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก และยังนำงานเก่ามาผลิตซ้ำได้อีก

ข้อเสียของแผ่นเสียง

  • ใช้พื้นที่เก็บมาก มีปัญหากับความชื้น ความร้อน ปลวก ต้องเก็บรักษาในตู้หรือลังที่มีขนาดพอดี มีอุณหภูมิคงที่
  • ร่องเสียงเสียหายง่าย (หากเก็บรักษาดี ก็ไม่มีปัญหา) เมื่อเสียหายแล้ว ไม่คืนสภาพ ถือเป็นแผ่นเสียไปเลย
  • หน้าปกและซองในผลิตจากกระดาษ อุณหภูมิไม่คงที่ ความชื้น น้ำและแดดมีผลอย่างมาก ทำให้เสียจาง และเสียหายได้
  • ราคาไม่คงที่ ส่วนใหญ่แผ่นยิ่งเก่าราคายิ่งสูง โดยเฉพาะกับศิลปินที่มีคนสะสม ทำให้ไม่มีราคามาตรฐานที่แน่นอน มักขึ้นอยู่กับความพอใจและความต้องการของตลาด
  1. เทปคาสเสตต์

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ตลาดคนเล่นเทปค่อนข้างพุ่งแรงและเป็นกระแสมาก โดยเฉพาะแนวเฉพาะทางอย่างอินดี้ฯ และเมทัล ไม่ว่าจะเป็นสากลหรือไทย บางครั้งก็แพงโดยตัวมันเอง บางครั้งก็ถูกปั่นราคาจนแพงเกินจริง กระนั้น ก็ยังมีคนต้องการกันอยู่เนืองๆ ทำให้ตลาดเทปไม่เคยเหงา นักสะสมรุ่นหลังที่มีกำลังซื้อก็เป็นอีกตัวแปรที่ช่วยอุ้มชูตลาดเทปนี้ด้วย

เทปก็เช่นเดียวกับแผ่นเสียง ถ้าแพงก็แพงหูฉี่ ถ้าถูกก็เหมือนให้ฟรี แต่ปัจจุบัน เทปมักจะราคาถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเทปจากยุคที่มันถูกผลิตเลย ไม่ได้ถูกผลิตใหม่ในยุคนี้เหมือนแผ่นเสียงหรือซีดี ดังนั้น นักสะสมจึงเห็นว่าคุณค่าของเทปอยู่ที่มันเป็น original ยิ่งสติกเกอร์ราคายังติดอยู่ ของแถมยังอยู่กับตลับ ยังมีคุณค่าเพิ่มขึ้นอีก และนักสะสมก็ไม่ยอมพลาด เทปที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดทุกวันนี้ แม้มีจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันมันก็ถูกซื้อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ร่อยหรอลงแบบที่เราไม่ทันสังเกต ยิ่งไม่มีการผลิตเพิ่มหรือนำมาผลิตซ้ำแบบรีอิชชู (re-issue) ก็ยิ่งทำให้จำนวนเทปลดลงเรื่อยๆ ส่วนราคาก็ถีบตัวสูงขึ้นไปแบบขั้นบันได

บางทีในอนาคตเทปเก่าที่ผลิตในอดีตอาจจะเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆที่นักสะสมให้ความสนใจ ส่วนเทปที่ผลิตใหม่ของศิลปินใหม่ในปัจจุบันและอนาคตอาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยราคาที่สูงเกินเหตุ และรูปแบบที่มันพัฒนาขึ้นจนดูแตกต่างจากเทปยุคเก่า ทีนี้ก็ขึ้นกับรสนิยมและกำลังทรัพย์ละครับ

ข้อดีของเทป

  • ราคาถูก หาง่าย คาดเดาสภาพจากรูปภาพ
  • เทปผียี่ห้อดังกับเทปลิขสิทธิ์คุณภาพเสียงแทบไม่ต่างกัน
  • เก็บรักษาง่าย ไม่กินที่
  • มีหลายไทป์ ทั้งธรรมดา โครเมียม และเมทัล ซึ่งให้คุณภาพเสียงตามเกรด โดยที่ราคาแตกต่างกันค่อนข้างมาก อีกทั้งมีความยาวของเวลาแตกต่างกัน มีตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 120 นาทีให้เลือกใช้

ข้อเสียของเทป

  • ระบุคุณภาพเสียงไม่ได้จนกว่าจะได้ฟัง การซื้อขายส่วนใหญ่จึงถือว่าวัดดวงเอา อายุใช้งานสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับการรักษา
  • มีปัญหากับความชื้น ความร้อน และเครื่องใช้ที่มีกระแสแม่เหล็ก ตลอดจนเครื่องเล่นที่ล้อยางส่งเทปฝืด อันเป็นต้นเหตุให้เครื่องเล่นกินเทป
  • ชิ้นส่วนบางอย่างหาอะไหล่ยาก เมื่อเสียหาย อาจต้องดึงชิ้นส่วนจากตลับอื่นมาใช้ทดแทน
  • มีโอกาสถูกอัดทับโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยครั้ง เว้นแต่หักพลาสติกในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มุมตลับซ้ายขวาทิ้งเสียก่อน ส่วนเทปลิขสิทธิ์หมดปัญหา ส่วนใหญ่โรงงานผลิตมาแบบที่ไม่แผ่นพลาสติกที่ว่านั่น
  • ไม่สามารถนำมาผลิตได้อีก เพราะไม่มีระบบจัดเก็บมาสเตอร์ไว้ นอกเสียจากตัวศิลปินเจ้าของผลงานยังเก็บมาสเตอร์ไว้

ที่กล่าวมาทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่คำแนะนำที่ใช้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นส่วนประกอบ เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าคุณจะเลือกสะสมอะไรจากสามอย่างนี้ หรือสะสมทั้งหมด คุณต้องคำนึงถึงความชอบส่วนตัว และมองอนาคตว่าวันใดคุณเบื่อสะสม หรืออาจเอาของสะสมมาสร้างรายได้ คุณจะจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด หรือพูดง่ายๆ อะไรจากสามอย่างนี้จะทำรายได้ให้คุณได้มากที่สุด ควรตระหนักว่าเราไม่ใช่พ่อค้า ไม่ใช่นักขายอาชีพ แต่การเรียนรู้และศึกษาจากเฟซบุ๊กต่างๆ ก็ช่วยได้และมีประโยชน์อย่างแน่นอน ยังไงก็มีความสุขและสนุกกับการฟังเพลงนะครับ

ที่มา Sanook.com

จริงหรือ ? ที่การกลับมาของแผ่นเสียง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว The Guardian ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยรายงานนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงงานผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนานนับศตวรรษ ยังคงใช้เครื่องจักรที่มีอายุเก่าแก่นานนับสิบปี ก่อนที่จะเชื่อมโยงมายังโรงงานผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย

ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดของเนื้อหารายงานดังกล่าว มาดูที่สถานการณ์ความเป็นไปของวงการแผ่นเสียงหรือแผ่นไวนิลกันเสียก่อน ปัจจุบันในขณะที่รายได้จากธุรกิจมิวสิกสตรีมมิงนำหน้าช่องทางการเสพดนตรีอื่น ๆ แต่ตลาดของแผ่นเสียงก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ในเวลานี้ชาวอเมริกันได้ใช้เงินไปกับแผ่นเสียงมากพอ ๆ กับการซื้อแผ่นซีดี ขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงในสหราชอาณาจักรมียอดสูงถึง 4 ล้าน 3 แสนแผ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่ 12 ติดต่อกันของยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นหากคุณเป็นหนึ่งในผู้คนหลายล้านคนที่ยอมรับการกลับมาอีกครั้งของแผ่นเสียง มันก็คุ้มค่าที่จะได้รู้ว่าแผ่นเสียงเหล่านั้นมาจากไหนและผลิตกันอย่างไร

ภายในโรงงานผลิตแผ่นเสียงจะมีตู้บรรจุที่เรียกว่า ฮ็อปเปอร์ ประจำแต่ละสถานีที่ทำการปั้มแผ่น ในนั้นเต็มไปด้วยเม็ดโพลีเมอร์ที่มีลักษณะคล้ายถั่วเลนทิล บรรจุไว้ตรงช่องทางลงในเครื่องจักรให้ความร้อน และหลอมรวมเพื่อสร้างก้อนวัตถุดิบที่มีลักษณะคล้ายกับลูกพัค (puck) ในกีฬาฮอกกี้ และลูกสควอช สำหรับเตรียมใช้ในการผลิตแผ่นเสียง

เม็ดโพลีเมอร์ที่ใช้ในการผลิตแผ่นเสียง – ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/

ในสต็อกสำหรับเก็บเม็ดพลาสติก ทางผู้สื่อข่าวได้พบกับกล่องกระดาษแข็งที่ว่างเปล่า ซึ่งมีขนาดใหญ่ราวกับตู้เย็น บนกล่องถูกทำเครื่องหมายด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่ว่า “สารประกอบไวนิล” และ “ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย” เม็ดไวนิลเหล่านี้ถูกใช้ในกระบวนการผลิตเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เดิมวัตถุดิบเหล่านี้ถูกผลิตมากที่สุดโดยบริษัทปิโตรเคมีซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จนกระทั่งตลาดแผ่นเสียงซบเซาไปหลังจากปี 1990

ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วมาจากต่างประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งของโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่ผู้ผลิตแผ่นเสียงชาวอเมริกันใช้ในปัจจุบันนี้มาจาก บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (TPC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ

TPC ได้ผลิตเม็ดไวนิลแบบพิเศษนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้เวลาขับรถครึ่งชั่วโมงไปทางใต้ของเมืองหลวง ทีมงานของ The Guardian อ้างว่าเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยพวกเขาได้พบกับอดีตวิศวกรปิโตรเคมีชาวเบลเยี่ยม ซึ่งได้แสดงความประหลาดใจหลังจากที่ได้ฟังทีมงานเล่าว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่แผ่นเสียงนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้น

แต่อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นเสียงยังคงใช้กระบวนการผลิตแบบโบราณและวัตถุดิบที่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าทาง TPC จะไม่ยินดีให้ทางทีมงานเข้าชมกระบวนการผลิต PVC … ซึ่งสิ่งที่เขาคาดเดาไว้นั้นก็เป็นความจริง

ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/
ภาพจาก https://vinyl-pressing-plants.com/

หลังจากล้มเหลวในการพยายามขอเข้าชมกระบวนการผลิต ตัวแทนจาก SCG Chemicals ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TPC และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ตกลงกับทางทีมงานว่าจะพบกันที่โรงแรมเพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา และเพื่ออธิบายขั้นตอนวิธีการผลิตเม็ดไวนิล

กระบวนการผลิตสารประกอบ PVC นั้นมีความซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่หลักการพื้นฐานนั้นง่ายที่จะจินตนาการ หากคุณเคยเล่นปั้นดินน้ำมัน Play-Doh ให้วางไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของอุปกรณ์มีลักษณะคล้ายเครื่องบดกระเทียม และกดให้มันออกมาทะลุออกมาอีกด้านหนึ่ง เพียงเท่านั้นคุณก็รู้แล้วว่า PVC นั้นผลิตกันอย่างไร

เมื่อสังเคราะห์ PVC จากสารประกอบทางเคมีแล้วเม็ดพลาสติกดิบจะถูกผสมกับสารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ แล้วให้ความร้อนเพื่อหลอมรวมสารประกอบพลาสติกเหล่านั้น จากนั้นก็รีดมันออกมาเหมือนเส้นสปาเกตตี้ก่อนจะนำมาตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ

ตัวแทนจาก SGC ได้อธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ความเชี่ยวชาญเชิงอุตสาหกรรมในระดับสูงและการตรวจสอบการควบคุมคุณภาพอย่างละเอียดคือสิ่งจำเป็นในการผลิตสารประกอบไวนิลคุณภาพสูงเช่นนี้

แต่คำถามที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของการผลิตไวนิล วัสดุ PVC ซึ่งมีสารเคมีก่อมะเร็ง และน้ำเสียจากกระบวนการผลิตซึ่งทางบริษัทเคยถูกกล่าวหาจากกลุ่มกรีนพีชว่าได้ปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตัวแทนจาก SGC ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดทางอีเมล

ในยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียง สถานการณ์นี้ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่แตกต่างกันเลย ในยุค 70 บริษัท Keysor-Century Corporation ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลอสแองเจลิสนั้นผลิต PVC ประมาณ 20 ล้านกิโลกรัมต่อปีป้อนให้กับอุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของจำนวนเงินประจำปีทั้งหมดที่ใช้ในประเทศในเวลานั้น

Keysor-Century ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษอย่างผิดกฎหมาย และถูกปรับเป็นเงินถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการปกปิดเรื่องความปลอดภัยของคนงาน การปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ และการทิ้งสารพิษลงสู่ท่อระบายน้ำ

เราไม่ทราบถึงปริมาณของน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือจำนวนมลพิษที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการผลิตแผ่นเสียง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ แผ่นเสียงไวนิล เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดี เป็นผลิตผลจากน้ำมันดิบ ซึ่งถูกผลิตและทำลายไปนับพันล้านหน่วยตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

ในระหว่างที่ยอดขายแผ่นเสียง เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดีในสหรัฐมียอดขายสูงสุด ได้ถูกบันทึกว่ามีการใช้พลาสติกเกือบ 60 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 140 ล้านกิโลกรัมต่อปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงที่เดียว

การปฏิเสธสื่อบันทึกเสียงทางกายภาพเหล่านั้นแล้วหันมาบริโภคเพลงจากสตรีมมิงคือทางออกที่ดีกว่าจริงหรือ ? นี่เป็นวิธีที่ผิดในการกำหนดกรอบปัญหา เนื่องจากสื่อดิจิทัลก็เป็นสื่อทางกายภาพเช่นกัน

แม้ว่าไฟล์เสียงดิจิทัลจะเป็นอะไรที่ดูเสมือนจริง และไม่สามารถจับต้องได้โดยตรง แต่ไฟล์เหล่านั้นก็ยังอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของการจัดเก็บข้อมูลการประมวลผลและการส่งผ่านข้อมูล ที่อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าพลาสติกปิโตรเคมีที่ใช้ในการผลิตสื่อบันทึกเสียงอย่างแผ่นเสียงเสียอีก ดังนั้นการสตรีมเพลงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเผาถ่านหิน, ยูเรเนียมและก๊าซ โดยทางอ้อมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็มีปริมาณพลังงานที่ต้องใช้ในการสตรีมเพลงแต่ละเพลง หรือแต่ละอัลบั้มนั้นน้อยมาก น้อยกว่าการฟังเพลงเดียวกันจากแผ่นเสียง, เทปคาสเซ็ตหรือแผ่นซีดี ทว่าการเปรียบเทียบโดยตรงเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เราจำเป็นต้องเข้าใจผลกระทบด้านพลังงานโดยรวมของสตรีมจากหลายพันล้านคนที่สามารถเข้าถึงเพลงได้อย่างไม่จำกัด

วัฒนธรรมการฟังเพลงสมัยใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้อุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ จะมีการผลิตน้อยลงมากเมื่อเทียบกับในยุครุ่งเรือง แต่กลับมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นถึง 200 ล้านกิโลกรัมต่อปีหลังจากปี 2015

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มสตรีมมิงเหล่านี้ คือ สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, แล็ปท็อป ซึ่งพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทั่วโลก

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท 8 แห่งในเนเธอร์แลนด์กำลังสำรวจวิธีการทำไวนิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตแผ่นเสียงจากวัสดุรีไซเคิลและวัตถุดิบที่ปราศจาก PVC ทว่าจากการผลิตแผ่นต้นแบบแล้วนำไปสาธิตประสิทธิภาพ แผ่นเสียงวัสดุใหม่นี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากให้คุณภาพเสียงที่ไม่ดีเท่าที่ควร และเนื้อวัสดุโค้งงอง่ายกว่าแผ่นไวนิล

บริการสตรีมมิงเพลงอย่าง Spotify เริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาเป็นคำแนะนำในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในศูนย์ข้อมูลของตนเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Spotify ได้ทยอยเลิกใช้งานโครงสร้างพื้นฐานสตรีมมิงส่วนใหญ่ของตัวเอง และหันไปใช้บริการร่วมกับระบบจัดเก็บข้อมูล Google Cloud แทน เพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา AVTechGuide.com และ The Guardian

การดู เลเบล และเลือกแผ่นเสียง

แผ่นเสียงที่ผลิตออกจำหน่ายแต่ละอัลบัม จะมีแผ่นที่ปั้มออกมาครั้งแรกจากต้นแบบ (Stamper) ที่ต้องนำมาตรวจสอบก่อนประมาณไม่เกิน 100 แผ่น หลังจากเข้าที่แล้วแผ่นต่อจากนี้ไปจึงจะเป็นแผ่นที่จะนำออกจำหน่าย แผ่นที่ตรวจสอบนี้เรียกว่า Test pressing บางค่ายก็มีนำออกจำหน่ายโดยมักจะมี เลเบล สีขาวพื้นๆ พิมพ์ชื่ออัลบั้ม/เพลง สีดำ ส่วนซองนอกก็จะเป็นซองขาวไม่มีข้อความใดๆ ทั้งสิ้น test pressing ของอัลบัม เก่าๆปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหามาสะสมกัน เนื่องจากเป็นพิมพ์แรกๆจาก stamper เสียงจะคมชัดดีกว่าแผ่นหลังๆ ที่ตามมา

ยังมีแผ่นอีกประเภทหนึ่งที่ค่ายเพลงมักนำมาแจกฟรีให้กับสถานีวิทยุ เพื่อโปรโมทเพลงของศิลปินที่สังกัดค่ายตนเอง เรียกว่า Demonstration Disc แผ่นประเภทนี้ก็เข้าใจได้ว่าน่าจะมีคุณภาพดีกว่าแผ่นที่ออกจำหน่ายจริง เนื่องจากเป็นแผ่นที่ผลิตออกมาจาก Stamper แรกๆ ฉลากหรือเลเบล มักจะมีรูปลักษณ์เฉพาะแตกต่างไปจากแผ่นที่จำหน่าย แต่ละค่ายก็แตกต่างกันไปแล้วแต่จะกำหนดให้เป็นที่เข้าใจกันเอง ซึ่งโดยมากก็มักจะมีพื้นฉลากสีขาว ตัวพิมพ์สีดำ

สำหรับแผ่นที่ผลิตออกวางจำหน่าย (Commercial labels) ก็จะมีหลายรุ่นที่ผลิตออกมา เรียกว่า 1st pressing, 2nd pressing… ส่วนรุ่นหลังๆ ที่นำมาสเตอร์มาทำใหม่ก็จะเรียกว่า re-issue บางอัลบั้มก็ผลิตจากหลายประเทศเช่น Japan pressing, German pressing, Indian pressing … อะไรทำนองนี้ คุณภาพเสียงของแต่ละรุ่นที่ผลิต หรือแต่ละประเทศที่ผลิต ย่อมแตกต่างกัน ก็จะเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้เสาะแสวงหา และนัก audiophiles ทั้งหลาย ในการเลือกซื้อก็จะต้องดูให้ดี ถ้าไม่พบข้อความระบุแหล่งผลิตจากซองนอกที่บรรจุแผ่น ก็อาจต้องดูที่เลเบลที่ติดอยู่กับแผ่น มักจะมีแหล่งผลิตระบุเอาไว้

ฉะนั้นในการเลือกหาซื้อแผ่นเพื่อสะสมจริงๆ จึงควรที่จะหาข้อมูลและเรียนรู้ประวัติของค่ายผลิตแผ่นเสียงต่างๆ จึงจะมีความเข้าใจได้ถูกต้อง

ค่ายเพลง / ค่ายผลิตแผ่นเสียง

การศึกษาประวัติของค่ายที่ผลิตแผ่นเสียงที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อน ’50 จนถึงยุค ’70 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรม/ธุรกิจแผ่นเสียง กำเหนิดขึ้น และเฟื่องฟูสุดขีด ย่อมทำให้เข้าใจลึกซึ้งต่อแผ่นเสียงที่ต้องการเสาะแสวงหามาฟังและสะสมอย่างมีความหมาย

สมัครสมาชิกไม่สำเร็จ อ่านที่นี่

แอดมินพบว่าหลายท่านสมัครสมาชิกเข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นยันตัวตนทางอีเมล์ ซึ่งท่านจะไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บได้

วิธีแก้ดังนี้

  1. ตรวจสอบ spam / junk / เมล์ขยะ ของท่าน และ คลิ๊กที่ ยืนยันตัวตน จากนั้นท่านจะสามารถล๊อกอินเข้าใช้งาน ตาม ล๊อกอิน และ รหัสผ่าน ที่ท่านลงใว้ได้
  2. หากไม่พบอีเมล์เพื่อยืนยันตัวตน แจ้งโดยการคอมเม้นท์ใต้โพสนี้พร้อมบอกชื่อล๊อกอินของท่าน
  3. หากจำ รหัสผ่านไม่ได้ กรุณาตั้งรหัสผ่านใหม่ / reset password โดยการคลิ๊กที่ “Forgot Your Password?” ได้ที่หน้านี้ https://thaigramophone.com/password-reset/
  4. หากไม่สำเร็จจริงๆ แจ้งโดยการตอบคอมเม้นท์ที่นี่ ด้วย ชื่อผู้ใช้งาน (username) ของท่าน แอดมินจะส่ง อีเมล์ยืนยันตัวตนไปให้ที่ อีเมล์ของท่านอีกครั้งหนึ่ง
  5. ติดต่อแอดมินได้ที่ อีเมล์ thaigramophone @ hotmail.com

ในกรณีลืมรหัสผ่าน (password)

ท่านสามารถ reset password หรือตั้งรหัสผ่านใหม่ได้ ด้วยวิธีการดังนี้

  1. คลิ๊กที่ปุ่ม forgot your password?
  2. กรอกอีเมล์ของท่าน (ย้ำ ต้องเป็น อีเมล์ที่เคยสมัครใว้ในระบบเท่านั้น)
  3. ระบบจะส่งอีเมล์ reset password หรือ ตั้งระหัสใหม่ให้ท่าน (กรุณตรวจสอบ junk mail หากไม่พบ)
  4. คลิ๊กที่ reset password ในอีเมล์ ท่านจะเข้าสู่หน้าเว็บให้ตั้ง password หรือ ระหัสผ่าน ใหม่
  5. สามารถใช้ระหัสผ่านใหม่เข้าเว็บได้ทันที

หนุ่มไฟแรงบริการรับสั่งเครื่องเสียงและประมูลจาก audiogon, Ebay, และ Yahoo

แผ่นเสียงมือสอง
แผ่นเสียงมือสอง

คนหนุ่มไฟแรงอีกคนที่อายุอานามเพิ่งจะ 40 แต่สามารถที่จะบุกป่าฝ่าดงวงการเครื่องเสียง- แผ่นเสียง ถึงกับทิ้งอาชีพเซียงกงของครอบครัวมาเอาดีทางด้านรับสิ่งสินค้า HiFi และรับประมูลเครื่องเสียง แผ่นเสียงจาก Ebay , Yahoo ญี่ปุ่น โดยมีสถานที่รวบรวมสินค้าที่อเมริกา ญี่ปุ่น แล้วค่อยส่งต่อมาที่เมืองไทย เป็นคนหนุ่มอัธยาศัยดี 

ผู้นั้นคือคุณ ธัช หรือ กิตติธัช เหล่าสุขสันติวงศ์ อยู่ที่ถนนติวานนท์ 33 เข้าไปนิดเดียวพบศาลพระภูมิให้เลี้ยวขวา ก็จะพบกับโกดังใหญ่ เป็นที่รวมของเครื่องเสียงนาๆชนิด และแผ่นเสียงมากมายจากทั้งญี่ปุ่น อเมริกา และ อังกฤษ

ท่านที่ต้องการสั่งของหรือประมูลสินค้า HiFi จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ลำโพวฮอร์น Altac A5, A7, JBL แอมป์หลอด ฯลฯ สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังคุณ ธัช ได้ที่เบอร์โทร 083-8305074  และยังมีเครื่องเสียงและแผ่นเสียงมากมายขายส่งและปลีก 

หน้าร้านเครื่องเสียงแผ่นเสียง
หน้าร้านเครื่องเสียงแผ่นเสียง

ขณะนี้ได้มาเปิดร้าน  P&P Audios and vinyl ที่ฟอร์จูนชั้น 3 โซนเครื่องเสียง ถนนรัชดาฯ   บริการให้นักออดิโอฟายมาเลือกหาซื้อแผ่นเสียงในราคาถูกเหมือนไปซื้อเองที่ต่างประเทศ

ร้านแผ่นเสียงมือสอง
ร้านแผ่นเสียงมือสอง
แผ่นเสียงมือสองสวยๆมากมาย
แผ่นเสียงมือสองสวยๆมากมาย
ลูกค้าอุดหนุนแผ่นเสียง
ลูกค้าอุดหนุนแผ่นเสียง
แผ่นเสียงสวยๆให้เลือกมากมาย
แผ่นเสียงสวยๆให้เลือกมากมาย

ยังมีเครื่องเสียงและลำโพงมาให้บริการถึงที่อีกด้วย ทั้ง B&W,  JBL L100, และอื่นๆ

เครื่องเสียงมือสอง ลำโพง
เครื่องเสียงมือสอง ลำโพง