“แผ่นเสียงออริจินัล (Original)” กับ “แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)” เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

Add @Sanook.com

"แผ่นเสียงออริจินัล (Original)" กับ "แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)" เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

อนุสรณ์ สถิรรัตน์นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537 บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544 บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548 ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แผ่นเสียงแบบรีอิชชู (Re-Issue ต่อไปขออนุญาตเรียกย่อว่า แผ่นรี) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีนายทุนผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของคนฟังเพลงไม่ขนาดสาย กระแสคนเล่นแผ่นเสียงยังไม่มีเค้าว่าจะซาลงง่ายๆ ขณะที่คนฟังเทปคาสเซ็ตต์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่เทปไม่สามารถออกรีอิชชูได้อีกแล้ว เว้นแต่จะแอบทำแบบผิดกฎหมายเหมือนสมัยเทปผีในอดีต การฟังเพลงในอดีตในรูปแบบแผ่นเสียงจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงจากยุคอนาล็อก

สำรวจตลาดแผ่นเสียงรี

ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านเป็นช่วงน้ำขึ้นของตลาดแผ่นเสียงรีอย่างแท้จริง ช่วงที่ว่านี้มีคนหันมาฟังแผ่นเสียงมากขึ้น เรียกได้ว่ามีนักเล่นแผ่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่กว่าครึ่งของจำนวนที่ว่านี้ก็เลิกเล่นไปในระยะเวลาอันสั้น สืบเนื่องมาจากสู้ราคาไม่ไหว อีกทั้งเจอแผ่นรีที่คุณภาพเสียงไม่ดีอย่างที่ฟังจากเทปหรือซีดีในอดีต ตลาดแผ่นเสียงรีบ้านเราเปิดตัวแบบไม่มีทิศทาง หลายอย่างยังไม่พร้อม ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังทำออกมาขาย ผลก็เลยผิดคาดและผิดหวังอย่างมากครับ ทำให้คนเพิ่งเล่นเข็ดขยาด ไม่อยากเล่นต่อ ส่วนคนที่เล่นอยู่ก่อนแล้ว ก็ไตร่ตรองมากขึ้น เลือกสรรละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น เพราะแผ่นรีไทยไม่ได้ดีทุกแผ่น มาตรฐานไม่เท่ากันทั้งหมด และไม่มีราคามาตรฐานอีกด้วย ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นกับนายทุนที่ผลิตออกมาขายเป็นสำคัญ ส่วนแผ่นของศิลปินปัจจุบันก็ผลิตออกมาตามความต้องการของผู้ฟัง ใช้วิธีพรีออร์เดอร์ก่อน แล้วค่อยผลิตตามจำนวนออร์เดอร์ ราคาจัดว่ายังสูงอยู่ แต่ไม่เป็นปัญหากับแฟนตัวจริงของแต่ละศิลปินมากนัก

re-issuebonjovi

ในแง่ของคนฟังเพลงระดับเข้าสายเลือดส่วนใหญ่รู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้กับแผ่นรีของไทย ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ยังดีไม่พอครับ เพราะหามาสเตอร์ที่ดีพอไม่ได้ อีกทั้งทำเพื่อตอบสนองคนฟังเพลงไทยกลุ่มเดียวที่ไม่อยากเสียเงินหลักหมื่นซื้อแผ่นออริจินัลนั่นเอง ประการหลังนี่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการออกแผ่นรี คือช่วยให้คนรุ่นหลังได้ฟังแผ่นมีค่าในอดีตด้วยราคาที่เอื้อมถึง แต่กระนั้นราคาที่ขายในขณะนั้นก็อยู่ที่พันบาทปลายๆถึงสองพันบาทต้นๆ ซึ่งถือว่าสูงเอาการ กับคุณภาพของสุ้มเสียงและการผลิตที่มาตรฐานยังไม่แน่นอน เราจึงเห็นแผ่นรีศิลปินไทยที่ออกมาในยุคแรกๆในราคาลดลงมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากออกขายไปเพียง 1-2 ปี คนที่ซื้อไปฟังแล้วก็นำมาขายต่อในราคาหลักแค่ไม่ถึงพัน ทุกวันนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นแผ่นรีของงานดังๆในอดีตมากนัก เห็นแต่งานใหม่ของศิลปินยุคปัจจุบันที่ออกงานมาหลายฟอร์แมตที่รวมฟอร์แมตแผ่นเสียงไปด้วย แต่นั่นก็เป็นแค่การฟังงานที่มาสเตอร์จากดิจิตอลด้วยระบบอนาล็อกเท่านั้นเอง คุณภาพเสียงดีจริงๆ แต่ฟังซีดีก็ตอบสนองได้เพียงพอแล้วครับ

ว่ากันที่สาเหตุที่ทำให้แผ่นรีรุ่นแรกๆของศิลปินไทยไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายประการ อย่างแรกก็คือ หามาสเตอร์ตัวจริงที่เป็นเทปรีลแบบอนาล็อกไม่ได้ อันนี้จำเป็นมาก เพราะสุ้มเสียงจากเทปมาสเตอร์นี้ผ่านการมิกซ์และตรวจสอบจากเอนจิเนียร์และโปรดิวเซอร์มาเป็นอย่างดี แต่เมื่อหามาสเตอร์ไม่ได้ การนำซีดีหรือแผ่นเสียงออริจินัลมาทำมาสเตอร์ โดยแปลงไฟล์เป็นดิจิตอลมันทำให้สุ้มเสียงไม่เหมือนเดิม ไหนจะต้องทำเป็นไฟล์ดิจิตอลเพราะตกแต่งเสียงและลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ออก เท่าที่ฟังมาหลายชุด เสียงออกมาดีสุดมีคุณภาพเช่นเดียวกับฟังซีดี แต่ขาดมิติ ไม่มีตื้นลึกหนาบางเหมือนอนาล็อก ซึ่งคงตำหนิไม่ได้เพราะมาสเตอร์ทำได้เท่านั้น อีกทั้งรีออกมาขายในราคาที่ถูกกว่าออริจินัลหลายเท่า คุณภาพเกือบเทียบเท่าหรือด้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น อย่าลืมนะครับ ห้องอัดเสียงหรือสตูดิโอในบ้านเราได้มาตรฐานก็จริง แต่บางครั้ง เอนจิเนียร์ นักดนตรี โปรดิวเซอร์ก็ทำงานไม่ได้อย่างที่ต้องการ เว้นเสียงแต่เดินทางไปบันทึกเสียงยังต่างประเทศที่เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัยกว่า

original
re-issuegunsnroses

แผ่นออริจินัลยังน่าเล่นอยู่

ไม่ว่าศิลปินไทยหรือต่างประเทศ แผ่นออริจินัล (ขอย่อว่าแผ่นออริ) ยังเป็นตัวเลือกอันดับแรกของคนฟังเพลงอยู่ เพราะเป็นแผ่นที่ผลิตในยุคอนาล็อก สุ้มเสียงเป็นธรรมชาติ มีมิติ ต่อให้มีริ้วรอยที่ผิวแผ่นจนทำให้เกิดเสียงรบกวนอยู่บ้าง แต่คนเล่นก็ไม่รังเกียจ อย่างน้อยก็ให้ความรู้สึกถึงอารมณ์เดิมๆที่คุ้นเคยจากที่เคยฟังจากเทปและซีดีในอดีตมาก่อน แผ่นออริจะฟังดีแค่ไหน ขึ้นกับสภาพของแผ่นครับ ถ้าแผ่นสวย ไม่มีรอยน่าเกลียด อย่างไรก็ฟังดี ให้สุ้มเสียงตามที่คาดหวังครับ แต่ถ้ารอยมาก เสียงรบกวนมาก หรือยับเยินเกินกว่าจะรับได้ แผ่นรีจึงเป็นทางออก ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง กรณีของแผ่นไทย อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก อย่างที่กล่าวถึงสาเหตุจากมาสเตอร์ในช่วงต้น แต่แผ่นศิลปินต่างประเทศ มีผลอย่างเห็นได้ชัด แผ่นรีแทบไม่ต่างจากแผ่นออริ บางแผ่นอาจให้สุ้มเสียงที่ดีกว่าด้วย เพราะเขาเก็บมาสเตอร์เทปไว้อย่างดี นอกจากนี้อาจรื้อมาสเตอร์มารีมาสเตอร์เทปต้นฉบับอีกด้วย ซึ่งเขาเน้นที่คุณภาพ ออกแผ่นรีทั้งที อย่างน้อยคุณภาพเสียงต้องเท่าเทียมแผ่นออริ หรือถ้าเสียงดีกว่าออริจะยิ่งยอดเยี่ยมขึ้นไปอีก แผ่นรีของศิลปินต่างประเทศจึงเชื่อถือได้ และที่สำคัญ ราคาไม่แพงครับ ตามร้านขายแผ่นเสียงซีดีในกรุงเทพฯอยู่ราวๆ 800-1500 บาท

ข้อดีของแผ่นรี

กล่าวได้ว่ามีน้อยมาก แต่ข้อดีเหล่านี้ล้วนเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นออริมาแล้วทั้งสิ้น ผู้ผลิตจึงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นกับแผ่นรีครับ เช่น ความหนาของแผ่นรีเพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำหนักที่เพิ่มเป็นมาตรฐาน 180 แกรม จึงไม่เกิดปัญหาแผ่นงอหรือโก่ง เวลาเก็บวางไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตเป็นแผ่นสีต่างๆ แผ่นลายหินอ่อน (Marbled Vinyl) แผ่นสีผสมแตกกระจาย (Splatted Vinyl) และแผ่นใส (Clear Vinyl) ดังนั้น แผ่นรีส่วนหนึ่งจึงเหมาะในการเก็บสะสมหรือประดับมากกว่าฟังด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ซื้อครับ

marbledvinyl
splattedvinyl
clearedvinyl

อนาคตแผ่นเสียงในไทย

ไม่มีอะไรน่าวิตกครับ ตราบใดที่คนฟังแผ่นเสียงยังไม่หันไปฟังสตรีมมิงแทน รบกวนทำความเข้าใจสักนิดครับ คนฟังแผ่นเสียง ซีดี เทป ส่วนใหญ่ก็ฟังสตรีมมิงด้วย เพราะใช้ในการฟังเป็นไกด์ไลน์ก่อนซื้อแผ่น หรืออาจฟังขณะที่ออกไปทำธุระนอกบ้าน ไม่ต้องมีฮาร์ดแวร์ แค่มือถือเครื่องเดียวก็ฟังได้ แต่ในทางกลับกัน คนที่ฟังสตรีมมิงเป็นหลัก คงไม่สามารถเบนเข็มมาฟังแผ่นเสียงได้ อาจมีฟังซีดีหรือเทปบ้าง แต่การจะข้ามมาฟังแผ่นเสียงนั้น ต้องลงทุนอีกมาก ซิสเต็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็หลักหลายหมื่น ไหนจะต้องซื้อแผ่นเสียงฟังอีก รายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวครับ

ด้วยเหตุนี้ แผ่นเสียงยังมีคนฟังอยู่ต่อไป แต่แผ่นรีจะอยู่ลำบากขึ้น แผ่นออกใหม่ของศิลปินไทยก็ต้องดูเป็นกรณีไป ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อนาคตเราอาจจะได้เห็นนายทุนหน้าใหม่ หรือบริษัทที่อยากโดดมาทำธุรกิจแผ่นเสียงศิลปินไทยกับเขาบ้างก็ได้ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาในช่วงสิบปีมานี้ นายทุนหน้าใหม่คงต้องลงทุนมากขึ้น หามาสเตอร์ตัวจริงของศิลปินในอดีตให้ได้ ซึ่งศิลปินหลายรายในอดีตก็เป็นเจ้าของสิทธิ์เพลงของตนเอง และเก็บมาสเตอร์ผลงานของตนเองไว้อย่างดี รอแต่ว่าใครจะติดต่อของานไปออกแผ่นเสียงและมีผลตอบแทนที่ไม่เอาเปรียบจนเกินไปนั่นเอง เอาที่ใกล้ตัวกว่านั้น นายทุนใหม่อาจเป็นคนที่เคยผิดหวังกับแผ่นรีไทยในอดีต รู้ซึ้งถึงข้อบกพร่องของแผ่นรีที่ผลิตออกมาในช่วงนั้น เมื่อผันตัวเองมาเป็นนายทุน ย่อมไม่ต้องการให้มีข้อบกพร่องเหล่านั้นอีก เรียกว่าแผ่นรีในอนาคตคุณภาพเสียงต้องดีขึ้น คุณภาพเชื่อถือได้ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ราคาเป็นมิตรกับคนฟังครับ มารอลุ้นกันครับ

ทีนี้ คุณจะเลือกเล่นแผ่นออริหรือแผ่นรีก็ต้องตัดสินใจกันแล้วละครับ แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือเลือกเล่นทั้งสองอย่างตามสภาพคล่องของกระเป๋าตังค์ครับ เพราะผมก็ทำแบบนี้ด้วย

ที่มา sanook.com

One thought on ““แผ่นเสียงออริจินัล (Original)” กับ “แผ่นรีอิชชู (Re-Issue)” เล่นอะไรดี? โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

  1. Pingback: ทำไมราคา "แผ่นเสียงไทย" กับ "แผ่นเสียงสากล" จึงแตกต่างกัน โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ - ThaiGramophone.co

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *