สำนักข่าว The Guardian ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยรายงานนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงงานผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนานนับศตวรรษ ยังคงใช้เครื่องจักรที่มีอายุเก่าแก่นานนับสิบปี ก่อนที่จะเชื่อมโยงมายังโรงงานผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย
ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดของเนื้อหารายงานดังกล่าว มาดูที่สถานการณ์ความเป็นไปของวงการแผ่นเสียงหรือแผ่นไวนิลกันเสียก่อน ปัจจุบันในขณะที่รายได้จากธุรกิจมิวสิกสตรีมมิงนำหน้าช่องทางการเสพดนตรีอื่น ๆ แต่ตลาดของแผ่นเสียงก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ในเวลานี้ชาวอเมริกันได้ใช้เงินไปกับแผ่นเสียงมากพอ ๆ กับการซื้อแผ่นซีดี ขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงในสหราชอาณาจักรมียอดสูงถึง 4 ล้าน 3 แสนแผ่นในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่ 12 ติดต่อกันของยอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นหากคุณเป็นหนึ่งในผู้คนหลายล้านคนที่ยอมรับการกลับมาอีกครั้งของแผ่นเสียง มันก็คุ้มค่าที่จะได้รู้ว่าแผ่นเสียงเหล่านั้นมาจากไหนและผลิตกันอย่างไร
ภายในโรงงานผลิตแผ่นเสียงจะมีตู้บรรจุที่เรียกว่า ฮ็อปเปอร์ ประจำแต่ละสถานีที่ทำการปั้มแผ่น ในนั้นเต็มไปด้วยเม็ดโพลีเมอร์ที่มีลักษณะคล้ายถั่วเลนทิล บรรจุไว้ตรงช่องทางลงในเครื่องจักรให้ความร้อน และหลอมรวมเพื่อสร้างก้อนวัตถุดิบที่มีลักษณะคล้ายกับลูกพัค (puck) ในกีฬาฮอกกี้ และลูกสควอช สำหรับเตรียมใช้ในการผลิตแผ่นเสียง
ในสต็อกสำหรับเก็บเม็ดพลาสติก ทางผู้สื่อข่าวได้พบกับกล่องกระดาษแข็งที่ว่างเปล่า ซึ่งมีขนาดใหญ่ราวกับตู้เย็น บนกล่องถูกทำเครื่องหมายด้วยตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่ว่า “สารประกอบไวนิล” และ “ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย” เม็ดไวนิลเหล่านี้ถูกใช้ในกระบวนการผลิตเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เดิมวัตถุดิบเหล่านี้ถูกผลิตมากที่สุดโดยบริษัทปิโตรเคมีซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ จนกระทั่งตลาดแผ่นเสียงซบเซาไปหลังจากปี 1990
ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแผ่นเสียงในสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วมาจากต่างประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งของโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ที่ผู้ผลิตแผ่นเสียงชาวอเมริกันใช้ในปัจจุบันนี้มาจาก บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (TPC) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ
TPC ได้ผลิตเม็ดไวนิลแบบพิเศษนี้บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้เวลาขับรถครึ่งชั่วโมงไปทางใต้ของเมืองหลวง ทีมงานของ The Guardian อ้างว่าเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยพวกเขาได้พบกับอดีตวิศวกรปิโตรเคมีชาวเบลเยี่ยม ซึ่งได้แสดงความประหลาดใจหลังจากที่ได้ฟังทีมงานเล่าว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่แผ่นเสียงนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้น
แต่อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นเสียงยังคงใช้กระบวนการผลิตแบบโบราณและวัตถุดิบที่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าทาง TPC จะไม่ยินดีให้ทางทีมงานเข้าชมกระบวนการผลิต PVC … ซึ่งสิ่งที่เขาคาดเดาไว้นั้นก็เป็นความจริง
หลังจากล้มเหลวในการพยายามขอเข้าชมกระบวนการผลิต ตัวแทนจาก SCG Chemicals ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TPC และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ตกลงกับทางทีมงานว่าจะพบกันที่โรงแรมเพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา และเพื่ออธิบายขั้นตอนวิธีการผลิตเม็ดไวนิล
กระบวนการผลิตสารประกอบ PVC นั้นมีความซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่หลักการพื้นฐานนั้นง่ายที่จะจินตนาการ หากคุณเคยเล่นปั้นดินน้ำมัน Play-Doh ให้วางไว้ที่ปลายด้านหนึ่งของอุปกรณ์มีลักษณะคล้ายเครื่องบดกระเทียม และกดให้มันออกมาทะลุออกมาอีกด้านหนึ่ง เพียงเท่านั้นคุณก็รู้แล้วว่า PVC นั้นผลิตกันอย่างไร
เมื่อสังเคราะห์ PVC จากสารประกอบทางเคมีแล้วเม็ดพลาสติกดิบจะถูกผสมกับสารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ แล้วให้ความร้อนเพื่อหลอมรวมสารประกอบพลาสติกเหล่านั้น จากนั้นก็รีดมันออกมาเหมือนเส้นสปาเกตตี้ก่อนจะนำมาตัดเป็นท่อนเล็ก ๆ
ตัวแทนจาก SGC ได้อธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน ความเชี่ยวชาญเชิงอุตสาหกรรมในระดับสูงและการตรวจสอบการควบคุมคุณภาพอย่างละเอียดคือสิ่งจำเป็นในการผลิตสารประกอบไวนิลคุณภาพสูงเช่นนี้
แต่คำถามที่เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของการผลิตไวนิล วัสดุ PVC ซึ่งมีสารเคมีก่อมะเร็ง และน้ำเสียจากกระบวนการผลิตซึ่งทางบริษัทเคยถูกกล่าวหาจากกลุ่มกรีนพีชว่าได้ปล่อยน้ำเสียเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตัวแทนจาก SGC ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดทางอีเมล
ในยุครุ่งเรืองของแผ่นเสียง สถานการณ์นี้ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่แตกต่างกันเลย ในยุค 70 บริษัท Keysor-Century Corporation ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลอสแองเจลิสนั้นผลิต PVC ประมาณ 20 ล้านกิโลกรัมต่อปีป้อนให้กับอุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของจำนวนเงินประจำปีทั้งหมดที่ใช้ในประเทศในเวลานั้น
Keysor-Century ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษอย่างผิดกฎหมาย และถูกปรับเป็นเงินถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการปกปิดเรื่องความปลอดภัยของคนงาน การปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ และการทิ้งสารพิษลงสู่ท่อระบายน้ำ
เราไม่ทราบถึงปริมาณของน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือจำนวนมลพิษที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการผลิตแผ่นเสียง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ แผ่นเสียงไวนิล เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดี เป็นผลิตผลจากน้ำมันดิบ ซึ่งถูกผลิตและทำลายไปนับพันล้านหน่วยตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ในระหว่างที่ยอดขายแผ่นเสียง เทปคาสเส็ตและแผ่นซีดีในสหรัฐมียอดขายสูงสุด ได้ถูกบันทึกว่ามีการใช้พลาสติกเกือบ 60 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 140 ล้านกิโลกรัมต่อปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงที่เดียว
การปฏิเสธสื่อบันทึกเสียงทางกายภาพเหล่านั้นแล้วหันมาบริโภคเพลงจากสตรีมมิงคือทางออกที่ดีกว่าจริงหรือ ? นี่เป็นวิธีที่ผิดในการกำหนดกรอบปัญหา เนื่องจากสื่อดิจิทัลก็เป็นสื่อทางกายภาพเช่นกัน
แม้ว่าไฟล์เสียงดิจิทัลจะเป็นอะไรที่ดูเสมือนจริง และไม่สามารถจับต้องได้โดยตรง แต่ไฟล์เหล่านั้นก็ยังอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของการจัดเก็บข้อมูลการประมวลผลและการส่งผ่านข้อมูล ที่อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าพลาสติกปิโตรเคมีที่ใช้ในการผลิตสื่อบันทึกเสียงอย่างแผ่นเสียงเสียอีก ดังนั้นการสตรีมเพลงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเผาถ่านหิน, ยูเรเนียมและก๊าซ โดยทางอ้อมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็มีปริมาณพลังงานที่ต้องใช้ในการสตรีมเพลงแต่ละเพลง หรือแต่ละอัลบั้มนั้นน้อยมาก น้อยกว่าการฟังเพลงเดียวกันจากแผ่นเสียง, เทปคาสเซ็ตหรือแผ่นซีดี ทว่าการเปรียบเทียบโดยตรงเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เราจำเป็นต้องเข้าใจผลกระทบด้านพลังงานโดยรวมของสตรีมจากหลายพันล้านคนที่สามารถเข้าถึงเพลงได้อย่างไม่จำกัด
วัฒนธรรมการฟังเพลงสมัยใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้อุตสาหกรรมแผ่นเสียงของสหรัฐฯ จะมีการผลิตน้อยลงมากเมื่อเทียบกับในยุครุ่งเรือง แต่กลับมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นถึง 200 ล้านกิโลกรัมต่อปีหลังจากปี 2015
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มสตรีมมิงเหล่านี้ คือ สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, แล็ปท็อป ซึ่งพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทั่วโลก
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท 8 แห่งในเนเธอร์แลนด์กำลังสำรวจวิธีการทำไวนิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตแผ่นเสียงจากวัสดุรีไซเคิลและวัตถุดิบที่ปราศจาก PVC ทว่าจากการผลิตแผ่นต้นแบบแล้วนำไปสาธิตประสิทธิภาพ แผ่นเสียงวัสดุใหม่นี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากให้คุณภาพเสียงที่ไม่ดีเท่าที่ควร และเนื้อวัสดุโค้งงอง่ายกว่าแผ่นไวนิล
บริการสตรีมมิงเพลงอย่าง Spotify เริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาเป็นคำแนะนำในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในศูนย์ข้อมูลของตนเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Spotify ได้ทยอยเลิกใช้งานโครงสร้างพื้นฐานสตรีมมิงส่วนใหญ่ของตัวเอง และหันไปใช้บริการร่วมกับระบบจัดเก็บข้อมูล Google Cloud แทน เพื่อให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์
ที่มา AVTechGuide.com และ The Guardian